คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8277/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในขณะที่ ผ. กับจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนละครึ่ง ดังนั้น แม้พินัยกรรมของ ผ. จะระบุว่าให้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งแปลง พินัยกรรมที่ยกที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยย่อมไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมเฉพาะส่วนของ ผ. โจทก์กับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนละครึ่ง แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของบ้านพิพาท แต่บ้านพิพาทก็ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทที่โจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์จะฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกไปหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ แต่โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคืนบ้านพิพาทให้โจทก์ กับแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งให้เสร็จสิ้นกันไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายกลิ่นและนางผาด สมบูรณ์จำเลยเป็นน้องโจทก์ นางผาดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน2528 ก่อนถึงแก่ความตายได้ทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 87 พร้อมที่ดินซึ่งบ้านตั้งอยู่เนื้อที่ 5 ไร่ โดยมีเขตทิศเหนือจดที่ดินจำเลยทิศใต้จดที่ดินนายเสมอ สมบูรณ์ ทิศตะวันออกจดแม่น้ำแควน้อยทิศตะวันตกจดที่ดินนางทา นิจแสวง และพืชผลซึ่งปลูกในที่ดินให้โจทก์ จำเลยได้ขออาศัยที่ดินดังกล่าวบางส่วนปลูกต้นอ้อยสร้างโรงเก็บของ โรงรถ และขออาศัยบ้านในที่ดินให้บริวารจำเลยอยู่อาศัย ต่อมาโจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินดังกล่าว จึงแจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดิน แต่จำเลยเพิกเฉย ที่ดินและบ้านหากให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าปีละ 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 3ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างคือโรงเก็บของและโรงรถออกจากที่ดินให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายปีละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยมีสิทธิครอบครองโดยได้ทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน จำเลยมิได้อาศัยบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์ มารดาจำเลยได้ยกที่ดินพิพาทในส่วนของมารดาจำเลยให้จำเลยตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 87หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหญ้า อำเภอกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีและที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขปในสำนวนที่คู่ความนำชี้ซึ่งบ้านตั้งอยู่ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ปีละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากบ้านและที่ดินพิพาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายกลิ่นและนางผาด ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นที่ดินที่ได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี 2498 ตามแบบแจ้งการครอบครอง(ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.3 ถึง จ.16 ในที่ดินพิพาทมีบ้านพิพาทเลขที่ 87 ปลูกอยู่ กับมีโรงเก็บของและโรงรถของจำเลยปลูกอยู่ด้วยนางผาดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2528 โดยได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย สำหรับบ้านพิพาทนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเดิมบ้านพิพาทเป็นของนางผาด นางผาดทำพินัยกรรมยกให้โจทก์บ้านพิพาทจึงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีให้เห็นได้เป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ส่วนสำหรับที่ดินพิพาทนั้น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าในขณะที่นางผาดถึงแก่ความตายนั้น นางผาดกับจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนละครึ่ง ดังนั้น แม้พินัยกรรมของนางผาดตามเอกสารหมาย จ.5 จะระบุว่าให้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งแปลง พินัยกรรมที่ยกที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยซึ่งไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางผาดให้แก่โจทก์ย่อมไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จึงมีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางผาดคือครึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาททั้งแปลงคดีจึงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนละครึ่งและด้วยเหตุที่โจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทดังกล่าวซึ่งสำหรับบ้านพิพาทนั้นแม้จะเป็นของโจทก์ดังวินิจฉัยแล้วข้างต้นแต่บ้านพิพาทก็ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทที่โจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงเห็นว่าโจทก์จะฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยดังฟ้องของโจทก์ไม่ได้ แต่โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(2) ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยคืนบ้านพิพาทให้โจทก์กับแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งให้เสร็จสิ้นกันไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนบ้านพิพาทให้โจทก์และแพ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์กับจำเลยตกลงแบ่งกันเอง ถ้าไม่ตกลงกัน ให้ขายที่ดินพิพาทโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยถ้าไม่ตกลงกันอีก ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share