คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับเพิ่มเติมสัญญาประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพไว้กับจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องแจ้งรายละเอียดการเกิดเหตุและยื่นคำเรียกร้องค่าทดแทนเป็นหนังสือต่อจำเลย ในระหว่างอายุสัญญา โจทก์ประสบอุบัติเหตุและได้แจ้งขอรับเงินค่าทดแทนต่อ ศ.ตัวแทนหาประกันของจำเลยซึ่งได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบ ต่อมาโจทก์ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังจำเลยโดยผ่านทาง ศ.อีก เช่นนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่านอกจาก ศ.จะเป็นตัวแทนหาประกันให้จำเลยแล้ว ยังได้ทำการเป็นตัวแทนของจำเลยภายในขอบอำนาจเกี่ยวกับการรับแจ้งอุบัติเหตุด้วย หาก ศ.ไม่มีอำนาจรับแจ้งเหตุตามสัญญาประกันภัยก็ชอบที่จะชี้แจงหรือแนะนำให้โจทก์แจ้งเหตุต่อจำเลยโดยตรง ถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตและสัญญาพิเศษเพิ่มเติม ประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพไว้กับจำเลยโดยมีเงื่อนไขสัญญาประการหนึ่งว่า บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ร้อยละห้าสิบของทุนเอาประกัน เมื่อต้องสูญเสียสายตาข้างใดข้างหนึ่งและสายตาข้างนั้นไม่สามารถกลับคืนแลเห็นได้อีกต่อไป ต่อมาโจทก์ประสบอุบัติเหตุในขณะก้มลงจะเปิดประตูรถยนต์ บุตรของโจทก์ซึ่งนั่งอยู่ภายในได้เปิดประตูรถออกมาอย่างแรงปะทะที่ตาด้านขวาของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บที่ลูกนัยน์ตาด้านขวา แพทย์ได้ทำการผ่าตัด แต่เมื่อผ่าตัดแล้ว ตาข้างขวาของโจทก์บอดไม่สามารถที่จะมองเห็นอีกได้ โจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังนายศักดิ์ชัย ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลย และขอรับเงินค่าทดแทนตามสัญญาพิเศษเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพ แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินค่าทดแทนจำนวน 150,00 บาท ค่ารักษาพยาบาล 22,270 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ตาขวาของโจทก์มิได้บอดเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ และตามข้อกำหนดของเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จะต้องแจ้งรายละเอียดการเกิดเหตุและยื่นคำเรียกร้องค่าทดแทนเป็นหนังสือต่อจำเลยภายในเวลา 30 วันนับแต่วันเกิดเหตุหรืออย่างช้าต้องไม่เกิน 90 วัน เพื่อให้จำเลยตรวจสอบ แต่โจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว นายศักดิ์ชัยเป็นเพียงตัวแทนหาประกันให้จำเลยเท่านั้น ไม่มีหน้าที่รับแจ้งการเกิดเหตุหรือรับคำเรียกร้องค่าทดแทนใดๆ หากโจทก์ประสบอุบัติเหตุ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนเป็นเงิน 150,000 บาทเท่านั้น หามีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลด้วยไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 150,000บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประสบอุบัติเหตุตามเงื่อนไขของสัญญาประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพตามฟ้อง และได้แจ้งเรื่องอุบัติเหตุให้นายศักดิ์ชัยทราบพร้อมกับยื่นคำเรียกร้องค่าทดแทนภายในกำหนดเมื่อนายศักดิ์ชัยทราบแล้ว ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบ และโจทก์ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังจำเลยโดยผ่านทางนายศักดิ์ชัย
แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า สำหรับปัญหาที่ว่า นายศักดิ์ชัยเป็นเพียงตัวแทนหาประกัน ไม่มีหน้าที่จะรับข้อเรียกร้องใดๆ แทนจำเลยได้นั้นเห็นว่า แม้นายศักดิ์ชัยจะเป็นเพียงตัวแทนหาประกันให้จำเลยก็ตาม แต่ในสัญญาประกันภัยข้อ4 และข้อ 5 กำหนดหน้าที่ผู้เอาประกันภัยว่าจะต้องแจ้งเหตุแก่จำเลยเมื่อได้รับอุบัติเหตุ ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่านายศักดิ์ชัยได้รับแจ้งอุบัติเหตุจากโจทก์แล้วโทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบ ต่อมานายศักดิ์ชัยยังรับหนังสือแจ้งถึงการได้รับอุบัติเหตุตามเอกสารหมายจ.10 อีกด้วย พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวแสดงว่า นายศักดิ์ชัยได้ทำการเป็นตัวแทนของจำเลยภายในขอบอำนาจเกี่ยวกับการรับแจ้งอุบัติเหตุ หากนายศักดิ์ชัยไม่มีอำนาจรับแจ้งเหตุตามสัญญาประกันภัยก็ชอบที่จะชี้แจงให้โจทก์ทราบหรือแนะนำให้โจทก์แจ้งเหตุต่อจำเลยโดยตรง จำเลยไม่ได้สืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น คดีจึงต้องฟังว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์.

Share