คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 2 ครอบครองเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ส. บิดาภริยาของจำเลยที่ 2 ได้หักล้างถางพงเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2450 จนกระทั่งปี 2502 ส. จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ครอบครองต่อมา คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจาก ส. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนก่อน โดย ส. เป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2450 ก่อนที่ทางการจะออกโฉนดที่ดินในปี 2464 การที่จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องและจำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 17/1 และบ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 2 ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตลอดจนทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามตามโฉนดเลขที่ 2343 ตำบลสมัค อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา กับส่งมอบการครอบครองคืนในสภาพปกติ ทั้งมิให้จำเลยทั้งสามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้รื้อถอนและทำการขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดิน โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ค่าฤชาธรรมเนียมในการรังวัดที่ดินพิพาทเป็นเงิน 24,385 บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 17,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 37,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2343 ตำบลบางสมัค อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแผนที่วิวาทของสำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2539 ด้านทิศเหนือบริเวณที่ระบายด้วยเส้นสีน้ำเงินเนื้อที่ 1 งาน 50 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และบริเวณที่ระบายด้วยเส้นสีแดง เนื้อที่ 3 งาน 16 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้โจทก์ทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2343 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อนำไปจดทะเบียนสิทธิการได้มาต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และให้พนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง จัดการแก้ทะเบียนและรูปแผนที่ในโฉนดแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงในโฉนดที่ดินเลขที่ดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเนื้อที่ตามแผนที่วิวาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง จัดทำฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2539
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม นางสาววนิดา ทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวาร รื้อถอนบ้านเลขที่ 17/1 และบ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 2 ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามโฉนดที่ดินเลขที่ 2343 ตำบลบางสมัค อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา สภาพปกติทั้งมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 3,000 บาท และเดือนละ 5,000 บาท ตามลำดับนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามกับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่านายความให้ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสามจำนวน 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2343 ตำบลบางสมัค อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 85 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 16 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดดังกล่าวตามแผนที่วิวาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ 2343 และให้จำเลยทั้งสามเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสามและบริวารอยู่อาศัยในที่ดินอีกต่อไป จึงขอบังคับให้จำเลยทั้งสามพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 2 ครอบครอง เดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า นายสุข บิดาภริยาของจำเลยที่ 2 ได้หักล้างถางพงเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2450 จนกระทั่งปี 2502 นายสุขจึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ครอบครองต่อมา คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายสุขซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนก่อน โดยนายสุขเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2450 ก่อนที่ทางราชการจะออกโฉนดที่ดินเลขที่ 2343 ในปี 2464 การที่จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องและจำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1328 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share