คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14383/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายความถึงคดีแพ่งที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา หรือความรับผิดในทางแพ่งเกิดขึ้นจากผลของการกระทำความผิดทางอาญาโดยตรง ซึ่งคดีอาญาที่จำเลยอ้าง แม้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกไม้เสาเข็มและไม้ฟืนอันเป็นทรัพย์รายเดียวกับทรัพย์ในคดีแพ่งคดีนี้และมีคำขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายแทนผู้เสียหายหรือโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่คดีแพ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลยที่ผิดสัญญา อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานยักยอกแต่อย่างใด คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาอันมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยผู้เป็นคู่สัญญาตามกฎหมายแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2533 จำเลยทำสัญญากับโจทก์รับจ้างตัดทอน ตบแต่ง และลากขนรวมกองไม้ที่โค่นล้มเนื่องจากวาตภัยจากป่า สวนป่าทรายทอง ห้วยยาง เขาดิน โป่งคา สถานีทดลองปลูกพรรณไม้ทรายทอง โครงการเขาไชยราช คลองกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปรวมหมอน ณ ริมทางตรวจการสวนป่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตามสัญญาข้อ 13 จำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาไม้ที่ทำตามสัญญาหากเกิดการเสียหายหรือสูญหาย โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยตามจำนวนไม้ที่เสียหายหรือสูญหาย จำเลยไม่ได้ขนไม้เสาเข็มและไม้ฟืนดังกล่าวไปยังที่รวมหมอน เนื่องจากไม้เสาเข็มและไม้ฟืนดังกล่าวสูญหายไปทั้งหมด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ค่าปรับเป็นเงิน 2,280,052.80 บาท โดยจำเลยสัญญาว่าจะนำเงิน 100,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ได้ชำระแก่โจทก์ โจทก์นำเงินประกันสัญญาจ้างที่อยู่ที่โจทก์เป็นเงิน 75,000 บาท หักออกจากยอดหนี้ดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 7 ครั้ง รวมเป็นเงิน 410,000 บาท โจทก์ได้นำไปหักดอกเบี้ยค้างชำระจนหมด จำเลยจึงยังค้างชำระต้นเงิน 2,205,052.80 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,885,092.28 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 4,090,145.08 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,090,145.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,205,052.80 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,090,145.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,205,052.80 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นต้นเงิน 1,506,837.58 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ 23,255.36 บาท โดยเฉพาะเอกสารหมาย ป.จ.39 เป็นหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนฟ้องเพียง 3 เดือน แต่โจทก์กลับฟ้องให้จำเลยรับผิดในต้นเงิน 2,205,052.80 บาท โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นยอดหนี้ที่แท้จริงมีจำนวนเท่าไร โจทก์ไม่มีอำนาจนำต้นเงิน 2,205,052.80 บาท มาคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาหนังสือทวงถามเอกสารหมาย ป.จ.31 เป็นหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน 2543 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ 6 ปีเศษ ได้ระบุชัดเจนว่าได้นำเงินที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปชำระดอกเบี้ยค้างชำระได้ถึงวันที่ 4 มกราคม 2543 แล้วยังมีหนี้คงเหลือเป็นต้นเงิน 1,506,837.58 บาท และดอกเบี้ย 23,255.36 บาท โจทก์ยังทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่เหลือดังกล่าวตลอดมาตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย ป.จ.33, ป.จ.35, ป.จ.37 และ ป.จ.39 โดยเฉพาะเอกสารหมาย ป.จ.39 ดังกล่าวเป็นหนังสือลงวันที่ 11 เมษายน 2544 ก่อนฟ้องเพียง 2 เดือนเศษ แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย ป.จ.8 ดังกล่าว ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 2,280,052.80 บาท และโจทก์มีนายสมชัยหัวหน้าส่วนทำไม้บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มาเบิกความเกี่ยวกับที่มาของยอดหนี้ตามฟ้องว่า หลังจากจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ค่าปรับเป็นเงิน 2,280,052.80 บาทแล้ว โจทก์ได้นำเงินประกันสัญญาจ้างของจำเลยที่อยู่ที่โจทก์เป็นเงิน 75,000 บาท หักออกจากยอดหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงิน 2,205,052.80 บาท โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,205,052.80 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 7 ครั้ง เป็นเงิน 410,000 บาท ตามเอกสารหมาย ป.จ.8 ถึง ป.จ.19 ดังกล่าว โจทก์ได้นำไปหักดอกเบี้ยค้างชำระจนหมด จำเลยยังค้างชำระต้นเงิน 2,205,052.80 บาทและดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,885,092.28 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 4,090,145.08 บาท แต่หนังสือทวงถามเอกสารหมาย ป.จ.31, ป.จ.33, ป.จ.35, ป.จ.37 และ ป.จ.39 ดังกล่าว ทุกฉบับเป็นหนังสือของโจทก์และยังปรากฏข้อความที่แสดงยอดหนี้ของจำเลยน้อยกว่ายอดหนี้ที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่สอดคล้องกับที่นายสมชัยอ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 2,205,052.80 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,885,092.28 บาท โจทก์ไม่ได้นำสืบอธิบายให้เห็นว่าเพราะเหตุใดยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดจึงไม่ตรงกับเอกสารของโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ได้ยื่นคำให้การ แต่โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 4 มกราคม 2543 จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 1,506,837.58 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ 23,255.36 บาท รวมเป็นเงิน 1,530,092.94 บาท ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย ป.จ.31 ดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงิน 1,530,092.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,506,837.58 บาท นับถัดจากวันที่ 4 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้ปัญหานี้จะถือว่าจำเลยไม่ได้ยกว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลล่าง แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดตรงตามฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 400/2549 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกไม้เสาเข็มและไม้ฟืนอันเป็นรายเดียวกันกับไม้คดีนี้และมีคำขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,280,052.80 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ถือว่าคำขอในส่วนแพ่งของพนักงานอัยการเป็นคำขอแทนผู้เสียหายและคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของไม้ที่สูญหายและไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิด จึงไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายหรือบุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงยกฟ้อง คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ นั้น เห็นว่า คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายความถึงคดีแพ่งที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา หรือความรับผิดในทางแพ่งเกิดขึ้นจากผลของการกระทำความผิดทางอาญาโดยตรง ซึ่งคดีอาญาที่จำเลยอ้างแม้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกไม้เสาเข็มและไม้ฟืนอันเป็นทรัพย์รายเดียวกันกับทรัพย์ในคดีแพ่งคดีนี้และมีคำขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายแทนผู้เสียหายหรือโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่คดีแพ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลยที่ผิดสัญญาอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานยักยอกแต่อย่างใด คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังที่จำเลยอ้าง โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาอันมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยผู้เป็นคู่สัญญาตามกฎหมายแพ่งแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,530,092.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,506,837.58 บาท นับถัดจากวันที่ 4 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share