แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 2 จะมีส่วนร่วมรู้เห็นที่จำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปที่บ้าน ก. และเดินทางไปที่บ้าน ก. พร้อมกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมคบคิดที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืน จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 91
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยทั้งสองกระทำความผิดขณะมีอายุกว่าสิบเจ็ดปีแต่ไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสาม ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร (ที่ถูก ไม่ต้องระบุโดยไม่มีเหตุสมควร) จำคุกคนละ 6 เดือน และฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 7 ปี 15 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 86 ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสามแล้ว จำคุก 6 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นเป็นจำคุก 6 ปี 20 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 21 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่วงกายนายเอกพงศ์ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า นายวรรณกร และนายสมเจตน์ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และนายกฤษดาทราบเรื่องจึงตามไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือนายเอกพงศ์แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 นายกฤษดาและนายเอกพงษ์ ติดตามไปพบจำเลยที่ 1 ที่สวนสาธารณะพระนารายณ์และร่วมกันทำร้ายจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ขวดเบียร์ตีจำเลยที่ 1 จนศีรษะแตก จากนั้นจึงพากันกลับไปที่บ้านนายกฤษดา ต่อมาในเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสอง นายชัยสิทธิ์ นายวชิระ นายสืบพงศ์ นางสาวอัมพิกา นางสาวบิวและนางสาวอุ๊ ไม่ทราบชื่อสกุลขับรถจักรยานยนต์ไปที่บ้านนายกฤษดา ขณะนั้นมีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 นางนิศา ผู้เสียหายที่ 3 นายณรงศ์ศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 4 นายเอกพงศ์ นายกฤษดาและนางสาวจอยนั่งคุยกันอยู่ที่โต๊ะหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 เดินเข้าไปต่อว่านายกฤษดาที่ทำร้ายจำเลยที่ 1 และเกิดชกต่อยกัน แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งกลับไปหาพวกที่ยืนอยู่ที่ทางเท้าหน้าบ้าน จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปทางผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณนิ้วซ้าย ถูกผู้เสียหายที่ 2 บริเวณหน้าท้อง ถูกผู้เสียหายที่ 3 บริเวณต้นขาขวา และถูกผู้เสียหายที่ 4 บริเวณหน้าอกเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับอันตรายสาหัส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมคบคิดที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่มาตั้งแต่แรก แต่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร้องบอกให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิง มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า หลังจากที่จำเลยที่ 2 ชกต่อยกับนายกฤษดาแล้วจำเลยที่ 2 วิ่งกลับมาร้องบอกให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงหรือไม่ ผู้เสียหายที่ 3 และนายกฤษดาเบิกความว่าจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าเอาปืนมายิงเลย ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าต๋องยิงเลย ผู้เสียหายที่ 4 นายเอกพงศ์และผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า เอาปืนมา เห็นว่าแม้ผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 นายเอกพงศ์ นายกฤษดา และผู้เสียหายที่ 2 จะเบิกความสอดคล้องกับที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.6 จ.8 จ.9 จ.10 และ จ.12 แต่ถ้อยคำที่จำเลยที่ 2 ร้องบอกจำเลยที่ 1 คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้นที่เบิกความว่าจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่ายิงเลย แต่ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกับวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 กลับไม่ได้ให้การถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ไว้เลย จึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่าผู้เสียหายที่ 1 จะได้ยินจำเลยที่ 2 พูดให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงตามที่เบิกความหรือไม่ ส่วนคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 และนายกฤษดาที่เบิกความว่าจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า เอาปืนมายิงเลยก็ยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงหรือให้จำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนมาให้จำเลยที่ 2 ตามที่ผู้เสียหายที่ 4 นายเอกพงศ์และผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 2 พูดว่า เอาปืนมาคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 4 นายเอกพงศ์และผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าวยังสอดคล้องกับที่นายสืบพงศ์ พี่ชายของจำเลยที่ 1 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนในวันเกิดเหตุตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.21 ดังนั้น หากเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนมาให้จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนมาให้จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร้องบอกให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงพวกผู้เสียหายหรือไม่ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมีส่วนร่วมรู้เห็นที่จำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปที่บ้านนายกฤษดา และเดินทางไปที่บ้านนายกฤษดาพร้อมกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมคบคิดที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กำหนดโทษไว้เป็น 3 ประการ คือโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ 13 ปี 4 เดือน และศาลชั้นต้นลดมาตราส่วนโทษให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดขณะมีอายุกว่าสิบเจ็ดปีแต่ไม่เกินยี่สิบปีลงหนึ่งในสาม จะลงโทษหลังจากลดมาตราส่วนโทษได้ 8 ปี 10 เดือน 20 วัน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหลังลดมาตราส่วนโทษ 10 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินกว่าโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามแล้ว ให้จำคุก 8 ปี 10 เดือน 20 วัน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี 5 เดือน 10 เดือน 10 วัน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 11 เดือน 10 วัน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8