แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าเจ้ามรดกของจำเลยกู้ยืมเงิน จำเลยให้การปฏิเสธว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม การจะฟังว่าเจ้ามรดกกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยาน เมื่อหนังสือสัญญาที่โจทก์อ้างเป็นพยานติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นตราสารที่ไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ส่วนการที่โจทก์นำพยานบุคคลและพยานเอกสารสืบไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยไม่ติดใจซักค้านและนำพยานเข้าสืบหักล้างพยานโจทก์นั้นก็หาใช่ว่าจำเลยยอมรับว่าเจ้ามรดกกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นบิดามารดาของนางสาวสำรวยชูทอง ผู้ตายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 นางสาวสำรวย ชูทอง ได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไปเป็นจำนวน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2542 โดยได้รับเงินที่กู้ยืมไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา นับแต่นางสาวสำรวยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์แล้ว นางสาวสำรวยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลยเมื่อครบกำหนดชำระตามสัญญาก็ไม่ได้ชำระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์คงค้างดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000บาท นับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 5 เดือน คิดเป็นเงินดอกเบี้ย 6,250 บาท เมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยแล้วเป็นเงินจำนวน 106,250 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2542 เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นบิดาและมารดาในฐานะทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางสาวสำรวยผู้ตายจึงต้องรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวตามคำฟ้องโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 106,250 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางสาวสำรวยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ ลายมือชื่อในช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อของนางสาวสำรวย จำเลยที่ 2 (ที่ถูกจำเลยที่ 1) มิใช่เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสำรวยจึงมิต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2(ที่ถูกจำเลยที่ 1) ก่อนตายนางสาวสำรวยไม่มีทรัพย์สินอันจะเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ตามฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่านางสาวสำรวยมีทรัพย์มรดกอย่างใดบ้าง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 บัญญัติว่า”ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดก” เมื่อปรากฏว่าก่อนตายนางสาวสำรวยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จึงไม่มีกองมรดกที่โจทก์จะพึงบังคับเอาชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองจึงหาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นคำให้การสู้คดี แต่ในระหว่างพิจารณาคดีโจทก์นำพยานบุคคลและเอกสารสืบไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจซักค้านและนำพยานเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์เท่ากับว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องพร้อมเอกสารต่าง ๆที่โจทก์นำสืบเสนอต่อศาลหรืออีกประหนึ่งว่ายอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยมิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้นย่อมฟังได้ว่า นางสาวสำรวยกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวไม่ปิดอากรแสตมป์หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนจึงไม่จำต้องอาศัยฟังจากเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2505 เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การสู้คดีปฏิเสธว่า นางสาวสำรวย ชูทอง ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 (ที่ถูกหมายเลข 2) เป็นสัญญาปลอมดังนั้น การจะฟังว่านางสาวสำรวยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์หรือไม่จึงต้องอาศัยฟังหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์อ้างมาเป็นพยานหลักฐานปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นตราสารที่ไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้าง จึงฟังไม่ได้ว่านางสาวสำรวยกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนที่โจทก์นำพยานบุคคลและพยานเอกสารสืบไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจซักค้านและนำพยานเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์นั้น ก็หาใช่ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่านางสาวสำรวยกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน