แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาครในทันทีทันใด แล้วนำจำเลยทั้งสองไปส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนดำเนินคดี เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความยังจับกุมตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือ สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 318 วรรคสาม, 276 วรรคสอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกคนละ 8 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพนิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิด ประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากจำเลยทั้งสองได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้ได้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 1 ปี ขั้นสูงคนละ 2 ปี นับแต่วันพิพากษา (วันที่ 16 มีนาคม 2547)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนความผิดฐานพรากผู้เยาว์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับฎีกาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้หรือไม่ คดีนี้การพรากผู้เยาว์เหตุเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนและต่อเนื่องไปถึงท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร แล้วจำเลยทั้งสองได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องจำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด แล้วพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครทันทีทันใด แล้วนำตัวจำเลยทั้งสองไปส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนดำเนินคดี ดังนี้เห็นได้ว่าขณะผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนนั้น ยังจับผู้ต้องหา (จำเลย) ไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) กล่าวคือ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 กรณีถือได้ว่าได้มีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุไม่เกินสิบห้าปี ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่ แต่เห็นสมควรให้ดำเนินการตามมาตรา 74 (2) และ (3) กล่าวคือ ให้มอบตัวจำเลยที่ 2 แก่บิดามารดาโดยให้บิดามารดาต้องระวังไม่ให้จำเลยที่ 2 ก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิดทางอาญาเป็นเวลา 3 ปี หากฝ่าฝืนให้ปรับบิดามารดาครั้งละ 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครทุก 3 เดือน รวม 8 ครั้ง ห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับสุรายาเสพติดทุกประเภท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์