คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดซึ่งถือเสมือนเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
1/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2459 (ที่ถูก พ.ศ.2469) มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 8 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2489 (ที่ถูก พ.ศ.2498) มาตรา 4 มาตรา 6 มาตรา 11 มาตรา 22 และมาตรา 23 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 4 มาตรา 6 ทวิ มาตรา 13 มาตรา 20 ทวิ และมาตรา 25 ตรี พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 มาตรา 2 มาตรา 19 และมาตรา 31 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 3 มาตรา 277 และมาตรา 282 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 83 และมาตรา 91 ริบของกลางทั้งหมด เฉพาะวิทยุคมนาคมและเครื่องมือหาตำแหน่งที่เรือของกลางให้ริบไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 277 และมาตรา 282 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 11 วรรคหนึ่ง และมาตรา 23 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 มาตรา 19 และมาตรา 31 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ วรรคหนึ่ง มาตรา 20 ทวิ และมาตรา 25 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำการในเรือในตำแหน่งนายเรือโดยมิได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถอันถูกต้อง จำคุก 2 เดือน ฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานมีเครื่องตวง เครื่องวัดซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ของกฎหมายไว้ในความครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 เดือน ฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานนำของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร ปรับ 1,439,496 บาท ฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 330,600 บาท รวมจำคุก 5 ปี 3 เดือน และปรับ 1,770,096 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 1,180,064 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 ในกรณีที่ต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับ 2 ปี ริบของกลางทั้งหมด เฉพาะเครื่องวิทยุคมนาคมให้ริบไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาตรา 80 และมาตรา 83 ปรับ 1,439,496 บาท ลดโทษหนึ่งในสามตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ปรับ 959,664 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 โดยกักขังแทนค่าปรับ 2 ปี ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 ริบของกลางทั้งหมดโดยไม่สั่งให้ริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขยกข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาและโจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง จำเลยนำเรือบรรทุกน้ำมันชื่อสกายโอเชี่ยน 3 นำพาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 117,414 ลิตร ราคา 352,242 บาท ที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรแล่นจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จะเข้ามายังราชอาณาจักรไทย โดยจำเลยนำเรือบรรทุกน้ำมันดังกล่าวมาจอดลอยลำในทะเล ณ บริเวณหมู่เกาะอาดัง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในทะเลอาณาเขตอันเป็นเขตราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ซึ่งต้องฟังให้เป็นผลดีแก่จำเลยว่า จุดที่จำเลยลอยลำเรือนั้นอยู่นอกราชอาณาจักรไทย แต่พันตำรวจตรีสุวัฒน์ ดาบตำรวจวันชัย และสิบตำรวจโทชัยวัฒน์ ใช้เรือตรวจการของตำรวจน้ำไปจับจำเลยกับพวก ณ จุดดังกล่าวแล้วนำตัวจำเลยกับพวกส่งให้พันตำรวจเอกจงรักษ์ และพันตำรวจโทวีรวิทย์ พนักงานสอบสวน ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบนำน้ำมันดีเซลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาอื่น ๆ ตามฟ้อง พร้อมเรือบรรทุกน้ำมันสกายโอเชี่ยน 3 น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 117,414 ลิตร วิทยุรับส่ง 2 เครื่อง เครื่องมือหาตำแหน่งที่เรือ 2 เครื่อง มิเตอร์ 2 เครื่อง และสายน้ำมันพร้อมหัวจ่าย 4 สาย เป็นของกลาง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยคงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามนำของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษี (น้ำมันดีเซลของกลาง) และยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งได้ใช้และมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดซึ่งของกลางตามฟ้อง ข้อหาอื่นพิพากษายกฟ้องและให้ริบของกลางทั้งหมดนั้น แต่เนื่องจากการพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริเวณทะเลจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอำนาจตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรได้ ปรากฏว่าประเทศไทยได้ประกาศเขตอำนาจในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจตรวจค้นเรือใด ๆ ที่สงสัยว่าจะละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดต่อกฎหมายและระเบียบดังกล่าวในทะเลซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องได้ การจับกุมจำเลยกับพวกจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2538 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจกลั่นแกล้งจับกุมเพราะเรียกร้องเงินจากจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า การจับกุมและการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอนกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าคดีนี้มีการสอบสวนไม่ชอบอย่างไร โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ตามคำเบิกความของจำเลยที่ตอบโจทก์ถามค้าน จำเลยเบิกความรับว่า จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายามตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวได้กระทำในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษา ส่วนของกลางทั้งหมดตามฟ้องฟังได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้และมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบที่จะสั่งริบของกลางทั้งหมดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share