คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4790/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 แม้โรคต่าง ๆ ที่กำหนดไว้รายการแรก ๆ จะมีลักษณะของโรคที่เกิดจากสารเคมีเป็นพิษเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานก็ตาม แต่โรคในรายการที่ 23 ที่ว่า โรคจากความร้อน รายการที่ 24 โรคจากความเย็น รายการที่ 25 โรคจากความสั่นสะเทือน และรายการที่ 26 โรคจากความกดดันอากาศ แสดงให้เห็นว่าโรคที่ประกาศกำหนดมิได้มุ่งถึงสารเคมีที่มีพิษเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงโรคหรือการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานด้วย โดยเฉพาะในรายการที่ 32 อันเป็นโรครายการสุดท้ายที่ว่า โรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโรคหรือความเจ็บป่วยในรายการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วยเลย แต่มุ่งเน้นว่าโรคหรือความเจ็บป่วยนั้นต้องเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานเท่านั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยปฏิบัติงานให้จำเลยจนเกิดความเหนื่อยล้าและถึงแก่ความตายเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยความเหนื่อยล้าดังกล่าว จึงเป็นโรคอื่นซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานตามรายการที่ 32 อันเป็นการเจ็บป่วยตามคำจำกัดความคำว่า “เจ็บป่วย” ตามระเบียบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 3 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นภรรยาและบุตรผู้ตาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยพิจารณาการขอเลื่อนอันดับเงินเดือนของนายธำรงเป็นกรณีพิเศษ เพื่อชำระส่วนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นเงิน 2,093,515 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,947,456 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับมามีเพียงว่า นายธำรงตายด้วยโรคอันถือได้ว่าเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการงาน (ที่ถูก เรื่องกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2539) ได้ประกาศกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดจากการทำงานตามคำนิยามคำว่า “เจ็บป่วย” ของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ไว้ทั้งหมด 22 โรค ล้วนแต่เป็นโรคที่เกิดจากสารเคมีที่เป็นพิษและเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งโดยลักษณะของงานเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและสภาพแวดล้อมเหล่านั้นโดยตรง นายธำรงตายด้วยโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ไม่เข้าลักษณะใด ๆ ในบรรดา 22 โรคดังกล่าว นายธำรงจึงไม่ได้ตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานตามคำนิยามของคำว่า “เจ็บป่วย” ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 3 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามระเบียบดังกล่าวนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนตายนายธำรงมีร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว และนายธำรงตายเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นผลมาจากการเหนื่อยล้าจากการทำงานให้แก่จำเลยที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นายธำรงเป็นโรคหัวใจและเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน โจทก์ที่ 1 เบิกความว่านายธำรงมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงที่นายธำรงเป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในข้อที่ว่าการตายเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นผลมาจากการเหนื่อยล้าจากการทำงานให้แก่จำเลยเป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะและสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานตามคำนิยามคำว่า “เจ็บป่วย” ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประกาศกำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 ได้ประกาศกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงานไว้รวม 32 โรค หรือ 32 รายการด้วยกัน… แม้โรคต่าง ๆ ที่ประกาศกำหนดไว้รายการแรก ๆ จะมีลักษณะของโรคที่เกิดจากสารเคมีเป็นพิษเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่โรคในรายการที่ 23 ที่ว่า โรคจากความร้อน รายการที่ 24 โรคจากความเย็น รายการที่ 25 โรคจากความสั้นสะเทือน และรายการที่ 26 โรคจากความกดดันอากาศ แสดงให้เห็นว่าโรคที่ประกาศกำหนดมิได้มุ่งถึงสารเคมีที่มีพิษแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงโรคหรือการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานด้วย โดยเฉพาะในรายการที่ 32 ซึ่งเป็นโรครายการสุดท้ายที่ว่า โรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโรคหรือความเจ็บป่วยในรายการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วยเลย แต่มุ่งเน้นว่าโรคหรือความเจ็บป่วยนั้นต้องเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายธำรงปฏิบัติงานให้จำเลยจนเกิดความเหนื่อยล้าและถึงแก่ความตายเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยความเหนื่อยล้าดังกล่าว จึงเป็นโรคอื่นซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานตามรายการที่ 32 ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยตามคำจำกัดความของคำว่า “เจ็บป่วย” ตามระเบียบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 3 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2539 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share