คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3027/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่าใดกำหนดจ่ายค่าจ้างเมื่อใด สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อใด รวมทั้งวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ขออนุญาตต่อศาลแรงงาน ซึ่งไม่เป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวและรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม พร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว โดยไม่จำต้องบรรยายว่า กรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งมีจำนวนกี่คน เป็นบุคคลใดบ้าง และตำแหน่งกรรมการลูกจ้างที่ว่างลง 2 คน นั้นคือใคร ตำแหน่งว่างเพราะเหตุใด สหภาพแรงงานมีจำนวนสมาชิกที่เป็นลูกจ้างจำเลยจำนวนเท่าใด มากพอเท่ากับที่กฎหมายกำหนดไว้ในการที่จะมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างเพราะสหภาพแรงงานผู้แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีสมาชิกไม่ถึงจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างได้ แต่จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า การแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างเพิ่มแทนตำแหน่งที่ว่างไม่ชอบ เพราะสมาชิกที่สมัครก่อนถึงวันประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานยังไม่มีฐานะเป็นสมาชิกและไม่มีสิทธิแต่งตั้งกรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการสหภาพแรงงานที่ได้รับการแต่งตั้งจึงเป็นกรรมการโดยไม่ชอบ ไม่มีสิทธิแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างเพิ่มแทนตำแหน่งที่ว่าง โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share