แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว การที่จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์ เรือนจำพิเศษมีนบุรีจึงหาใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ไม่ ทั้งการที่จำเลยต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีก็มิใช่เป็นการย้ายถิ่นที่อยู่ของจำเลยด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ด้วย และกรณีของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยการที่บุคคลใดเลือกเอาถิ่นใดโดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใดอันจะถือว่าเรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 อีกเช่นกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยอันมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 58, 33 ริบเงินสดจำนวน 400 บาท ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายและบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.4230/2545 ของศาลอาญาเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ย.4230/2545 ของศาลอาญาที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้บวกโทษและเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3660/2544 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 18 เดือน 20 วัน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.4230/2545 ของศาลอาญาเข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 2 ปี 24 เดือน 20 วัน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่ง เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน วางโทษจำคุก 4 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 10 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 7 ปี 40 วัน นำโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.4230/2545 ของศาลอาญามาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน 40 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้น โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ระบุไว้ในทะเบียนราษฎร์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้มาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติว่าภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวก็ตาม การที่จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์ เรือนจำพิเศษมีนบุรีจึงหาใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 ดังกล่าวไม่ ทั้งการที่จำเลยต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีก็มิใช่เป็นการย้ายถิ่นที่อยู่ของจำเลยด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 41 ด้วย และกรณีของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยการที่บุคคลใดเลือกเอาถิ่นใดโดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใดอันจะถือว่าเรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 42 อีกเช่นกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยอันมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยนั้นเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยไม่อุทธรณ์ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกจีรยุทธ จิตใจกล้า มาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 เวลาช่วงเช้า พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่าที่บริเวณซอยโรงน้ำปลา หมู่ที่ 6 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร มีการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน พยานกับพวกจึงวางแผนล่อซื้อโดยสายลับแจ้งด้วยว่าลักลอบจำหน่ายในราคาเม็ดละ 100 บาท พยานจึงนำธนบัตรฉบับละ 100 บาท ไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี หลังจากนั้นพยานได้เดินทางไปใกล้กับบริเวณที่เกิดเหตุเวลา 14 นาฬิกาเศษ และปล่อยสายลับไปล่อซื้อ หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที สายลับได้กลับมาพร้อมนำเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด มามอบให้และแจ้งว่าซื้อมาจากนายขาว อายุประมาณ 35 ถึง 40 ปี พร้อมกับบอกลักษณะของนายขาวรวมทั้งการแต่งตัวและทรงผม พยานกับพวกจึงเดินทางไปที่ซอยดังกล่าวพบจำเลยมีลักษณะและแต่งตัวเหมือนกับที่สายลับได้แจ้งไว้ จึงเข้าตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด จำเลยให้การรับสารภาพว่าธนบัตรที่ตรวจค้นได้จากที่ตัวจำเลยนั้น จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนก่อนที่พยานกับพวกจะเข้าจับกุม พยานจึงให้จำเลยลงชื่อรับรองไว้ในสำเนาธนบัตรดังกล่าวที่ได้ถ่ายสำเนาไว้ พยานได้ทำบันทึกการจับกุมไว้ด้วย และให้จำเลยเขียนคำรับสารภาพด้วยลายมือตนเอง จากนั้นพยานกับพวกนำตัวจำเลยพร้อมของกลางส่งมอบต่อพนักงานสอบสวน โดยพยานโจทก์ปากนี้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมากพอสมควร และวันดังกล่าวพยานจำไม่ได้ว่าจะมีการจับกุมผู้ต้องหารายอื่นอีกด้วยหรือไม่ โดยโจทก์มีสิบตำรวจเอกจุมพล สุทธิประภา มาเบิกความทำนองเดียวกัน โดยพยานโจทก์ปากนี้เบิกความว่า ก่อนจับกุมจำเลยประมาณ 1 สัปดาห์ พยานสืบทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีการมั่วสุมลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงจัดหาสายลับเพื่อเข้าไปล่อซื้อ วันเกิดเหตุสายลับมาพบพยานเวลาประมาณเที่ยงและพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานกับพวกจับกุมจำเลยได้เวลาประมาณ 15 นาฬิกา จุดที่พยานกับพวกซุ่มอยู่มองไม่เห็นขณะที่สายลับเข้าไปล่อซื้อ ขณะที่สายลับไปล่อซื้อจึงไม่ทราบว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากใคร เมื่อสายลับซื้อได้แล้วจึงแจ้งว่าซื้อจากนายขาวจำเลยและพยานตอบโจทก์ถามติงว่า ขณะที่เข้าไปจับกุมจำเลยนั้น ได้มีการแสดงตัวต่อบุคคลอื่นบริเวณใกล้เคียงอีกประมาณ 2 ถึง 3 คน และพันตำรวจตรีคารม พรมคุณ พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งมอบหลายคน พยานจำไม่ได้ว่าคดีอะไรบ้าง แต่มีจำเลยรวมอยู่ด้วย 1 คน เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ชุดจับกุมนั้นสืบทราบแต่เพียงว่าในซอยโรงน้ำปลามีการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นคนลักลอบจำหน่าย และเหตุใดจึงมีการวางแผนล่อซื้อโดยไม่ทราบว่าใครเป็นเป้าหมายที่ต้องการจะล่อซื้ออันเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไร้เหตุผล ทั้งการที่ร้อยตำรวจเอกจีรยุทธเบิกความว่าช่วงเช้าพยานได้รับแจ้งจากสายลับ แต่สิบตำรวจเอกจุมพลกลับเบิกความว่าสายลับไปพบพยานเวลาประมาณเที่ยง ความแตกต่างเบื้องต้นในลักษณะเช่นนี้ก็ก่อให้เกิดความสับสนแล้วว่าเหตุใดพยานทั้งสองซึ่งเป็นชุดจับกุมเดียวกันจึงเบิกความไม่สอดคล้องกัน ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อสายลับไปล่อซื้อแล้วกลับมาบอกพยานว่าซื้อจากจำเลยโดยระบุชื่อและรูปลักษณะรวมทั้งการแต่งตัวของจำเลยเช่นนี้ เมื่อซอยโรงน้ำปลาที่เกิดเหตุเป็นชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนพอสมควรตามที่ร้อยตำรวจเอกจีรยุทธเบิกความ พยานจะต้องใช้เวลาในการหาตัวจำเลยหรือไม่ หากต้องใช้เวลา จะต้องใช้เวลานานเท่าไร และเหตุใดจึงต้องตรวจค้นตัวบุคคลอื่นอีก 2 ถึง 3 คน ตามที่สิบตำรวจเอกจุมพลตอบโจทก์ถามติงในเมื่อพยานประสงค์ที่จะจับกุมผู้ที่ถูกล่อซื้อเท่านั้น นอกจากนี้ การที่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อที่ 6 ที่ระบุเวลาของการบันทึกการนำธนบัตรไปล่อซื้อไว้ที่เวลา 14.35 นาฬิกา เหตุใดผู้จับกุมทั้งหมดจึงไปถึงใกล้ที่เกิดเหตุเวลา 14 นาฬิกาเศษและจับกุมจำเลยได้ในเวลา 15 นาฬิกา ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีจนถึงจับกุมจำเลยได้นั้นกระชั้นชิดกันจนก่อให้เกิดความสงสัยว่าเหตุใดจึงสามารถกระทำการได้อย่างรวดเร็วนัก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้มาก่อนว่าใครเป็นผู้ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในซอยที่เกิดเหตุดังกล่าว ทั้งบัญชีของกลางคดีอาญากลับระบุว่าเป็นของกลางตาม ป.จ.ว. ข้อที่ 15 ก็ขัดกับรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ระบุว่าเป็นลำดับที่ 6 เมื่อรวมข้อพิรุธของพยานโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นในการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเบิกความ ตลอดจนจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพเพราะถูกทำร้ายพยานโจทก์จึงเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าในวันเกิดเหตุได้มีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น สำหรับเงิน 400 บาท ของกลาง ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ริบ แต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่สั่งคืน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนแก่เจ้าของ”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน 20 วัน บวกโทษจำคุก 6 เดือน เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ เป็นจำคุก 3 ปี 12 เดือน 20 วัน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและให้คืนเงิน 400 บาท แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์