แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ต้องเสียภาษีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง กรมสรรพากร กลับนำมูลกรณีเดียว กันมาฟ้องขอให้ผู้ต้องเสียภาษีชำระค่าภาษีอากรตาม ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ดังนี้ โดย ที่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อ ศาลนั้น ย่อมเป็นที่เห็นได้ ว่าที่บัญญัติไว้เช่นนี้ ก็โดย วัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อผู้ต้อง เสีย ภาษีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อ ศาลอยู่ โจทก์มีสิทธิจะได้ รับชำระภาษีตาม ที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วหรือไม่ จึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อน การที่ผู้ต้องเสียภาษีไม่ชำระภาษีอากรตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องไม่ เพราะมิฉะนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อ ศาลก็จะไร้ผล.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น1,121,665.06 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาเมื่อยังไม่มีคำพิพากษา โจทก์ไม่อาจฟ้องให้จำเลยชำระภาษีอากรที่จำเลยยังอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระค่าภาษีอากรหรือไม่ ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์หมายเรียกจำเลยมาตรวจสอบไต่สวนการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2515, 2516 แล้วมีหนังสือลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 แจ้งการประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรให้โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น1,019,695.52 บาท จำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการคณะนั้นพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยให้ลดเงินเพิ่มที่เรียกเก็บลงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย คงให้จำเลยชำระภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มให้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 934,720.09 บาทจำเลยอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง ขณะที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้จำเลยชำระให้โจทก์เป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่จำเลยไม่ชำระเงินตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องได้หรือไม่ พิจารณาแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า “ฯลฯ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ฯลฯ” เป็นที่เห็นได้ว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลอยู่ โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วหรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อน การที่จำเลยไม่ชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องดังที่อุทธรณ์ไม่ เพราะมิฉะนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลก็จะไร้ผล”
พิพากษายืน.