คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18891-18896/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช่วงเวลาที่ศูนย์เครื่องจักรที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานรวมทั้งบ้านพักอาศัยและบริเวณรอบบ้านพักอาศัยของโจทก์ทั้งหกถูกน้ำท่วมสูงและขังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้ประกาศหยุดงาน จำเลยจัดหาที่พักชั่วคราวให้ลูกจ้างที่บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมที่ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ หมู่บ้านสรานนท์ปากเกร็ด และโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินวัดกำแพง จังหวัดนนทบุรี และมีศูนย์บัญชาการสั่งงานและให้ลูกจ้างมารวมตัวที่หมู่บ้านสรานนท์ปากเกร็ด แม้โจทก์ทั้งหกไม่ได้เข้าพักอาศัยในที่พักอาศัยชั่วคราวที่จำเลยจัดให้ โจทก์ทั้งหกก็ยังมีหน้าที่ต้องไปทำงานหรือรวมตัวกันตามคำสั่งของจำเลย การที่โจทก์ทั้งหกไม่เดินทางไปทำงานโดยไม่แจ้งสาเหตุให้จำเลยทราบเป็นเวลา 3 วันทำงาน ติดต่อกัน แสดงว่าโจทก์ทั้งหกคำนึงถึงความจำเป็นของตนเป็นประการสำคัญโดยไม่สนใจงานที่ต้องทำให้จำเลยหรือความเดือดร้อนของจำเลยที่มีสาเหตุจากน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกัน เป็นกรณีโจทก์ทั้งหกละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6
โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 108,000 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 23,400 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 72,000 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,600 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าชดเชย 112,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,199 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 จ่ายค่าชดเชย 34,500 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 3,833 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,949 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 4 จ่ายค่าชดเชย 51,600 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 2,866 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,179 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 5 และจ่ายค่าชดเชย 69,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,949 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 34,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 6
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 90,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 54,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 84,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 25,500 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 48,000 บาท และโจทก์ที่ 6 จำนวน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้แทนกิจการร่วมค้ายูนิค – ซุนโว โดยร่วมประกอบกิจการค้ากับบริษัทซุนโว คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ร่วมกันรับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน) โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างของจำเลย สังกัดศูนย์เครื่องจักร ตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานขับรถเกรดเดอร์ พนักงานขับรถเฮี๊ยบ พนักงานขับรถโมบายเครน พนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน พนักงานขับรถรับส่งคนงาน และพนักงานขับรถบรรทุกสิบล้อหางปลา ตามลำดับ ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2554 ถึงต้นเดือนมกราคม 2555 ศูนย์เครื่องจักรถูกน้ำท่วม จำเลยไม่ได้ประกาศหยุดงาน แต่ได้จัดหาที่พักให้พนักงานที่บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมไว้ 3 แห่ง คือ ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ หมู่บ้านสรานนท์ปากเกร็ด และโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินวัดกำแพง จังหวัดนนทบุรี โดยมีศูนย์บัญชาการเพื่อสั่งงานและให้ลูกจ้างมารวมตัวกันที่หมู่บ้านสรานนท์ โจทก์ที่ 1 ละทิ้งการงานตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 9 พฤศจิกายน 2554 โจทก์ที่ 2 ละทิ้งการงานตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 31 ตุลาคม 2554 โจทก์ที่ 3 ละทิ้งการงานตั้งแต่วันที่ 18 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 โจทก์ที่ 4 ละทิ้งการงานตั้งแต่วันที่ 18 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 โจทก์ที่ 5 ละทิ้งการงานตั้งแต่วันที่ 18 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 โจทก์ที่ 6 ละทิ้งการงานตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 โดยไม่แจ้งสาเหตุให้จำเลยทราบ ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทั้งหกขาดงานเป็นช่วงที่ศูนย์เครื่องจักรหรือหน่วยก่อสร้างที่โจทก์ทั้งหกทำงาน ที่พักและบริเวณรอบที่พักอาศัยของโจทก์ทั้งหกถูกน้ำท่วมสูงและขังเป็นเวลานาน แล้ววินิจฉัยว่า แม้จำเลยจัดที่พักให้แก่พนักงานที่บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกด้วย แต่โจทก์ทั้งหกไม่สมัครใจไปอยู่ที่พักที่จำเลยจัดให้เพราะโจทก์ทั้งหกเป็นห่วงทรัพย์สินของตนเอง และสภาพที่พักที่จัดให้นั้นก็ไม่ได้สะดวกสบายไปกว่าที่พักอาศัยของโจทก์ทั้งหก ระยะทางระหว่างที่พักของโจทก์ทั้งหกกับที่ตั้งของสถานที่ทำงานหรือหน่วยก่อสร้างที่โจทก์ทั้งหกประจำอยู่มีระยะทางห่างกันมาก การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ การที่โจทก์ทั้งหกไม่ได้ไปทำงานตามปกติถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นและมีเหตุอันสมควร มิใช่การละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่โดยไม่มีเหตุอันสมควรประกอบกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 6 กำหนดว่าลูกจ้างที่กระทำความผิดร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกโดยไม่ได้รับค่าชดเชยนั้น จะต้องถูกสอบสวนข้อเท็จจริงโดยผู้จัดการฝ่ายบุคคลและหรือผู้จัดการฝ่ายลูกจ้างผู้นั้น แล้วกรรมการผู้จัดการหรือผู้รับมอบอำนาจจะเป็นผู้ตัดสินใจเลิกจ้าง เมื่อก่อนที่จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกนั้นจำเลยยังไม่ได้ทำการสอบสวนถึงสาเหตุที่โจทก์ทั้งหกไม่ไปทำงาน ดังนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งหก แต่การที่โจทก์ทั้งหกไม่แจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่ไปทำงานให้จำเลยทราบ ถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันควรและเพียงพอ ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้างประจำวันที่ 20 ถึง 31 ตุลาคม 2554 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ครบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งหกละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้แทนกิจการร่วมค้ายูนิค – ซุนโว ร่วมกันรับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน) โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถเกรดเดอร์ พนักงานขับรถเฮี๊ยบ พนักงานขับรถโมบายเครน พนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน พนักงานขับรถรับส่งคนงาน และพนักงานขับรถบรรทุกสิบล้อหางปลา ตามลำดับ สังกัดศูนย์เครื่องจักร ตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2554 ถึงต้นเดือนมกราคม 2555 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในบริเวณจังหวัดปทุมธานีและพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร ศูนย์เครื่องจักรของจำเลยที่โจทก์ทั้งหกทำงานถูกน้ำท่วม แต่จำเลยไม่ได้ประกาศหยุดงาน โดยจำเลยจัดหาที่พักอาศัยเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ให้แก่พนักงานที่บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมไว้ถึง 3 แห่ง คือ ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ หมู่บ้านสรานนท์ปากเกร็ด และโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินวัดกำแพง จังหวัดนนทบุรี โดยมีศูนย์บัญชาการเพื่อสั่งงานและให้พนักงานมารวมตัวกันที่หมู่บ้านสรานนท์ การที่โจทก์ทั้งหกเห็นว่าที่พักกับสถานที่ทำงานอยู่ห่างกันมากทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบากและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าปกติและโจทก์ทั้งหกไม่ไปพักอาศัย ณ ที่พักอาศัยชั่วคราวที่จำเลยจัดให้ โจทก์ทั้งหกก็ยังต้องมีหน้าที่ไปทำงานหรือรวมตัวกันตามคำสั่งของจำเลย หากโจทก์ทั้งหกมีความจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ โจทก์ทั้งหกก็ต้องแจ้งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างทราบ มิใช่หยุดงานไปโดยพลการ แต่โจทก์ทั้งหกกลับไม่ไปทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน 6 วัน 16 วัน 16 วัน 16 วัน 14 วัน และ 10 วัน ตามลำดับ โดยไม่แจ้งสาเหตุให้จำเลยทราบแต่อย่างใด เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ที่คำนึงถึงความจำเป็นของตัวเองเป็นประการสำคัญ โดยไม่สนใจงานที่ต้องทำให้นายจ้างหรือความเดือนร้อนของนายจ้างอันมีสาเหตุมาจากน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกัน กรณีย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งหกละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) ที่ศาลแรงงานงานกลางวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ทั้งหกละทิ้งหน้าที่พอถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นและมีเหตุอันสมควรและให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งหกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งหก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share