แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าไปในที่ดินของ จ. แล้วปลูกมันสำปะหลังเป็นการเข้าไปเพื่อถือการครอบครอง หรือกระทำการใด ๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกในขณะที่เริ่มเข้าไปปลูกพืชผลนั้น ความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว ตั้งแต่จำเลยเข้าไปจึงเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุข ของ จ. ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นผลของการบุกรุกโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจาก จ. เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองหลังจากการกระทำผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วการกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2535 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2535 จำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1004 อยู่ที่ตำบลศรีมหาโพธิอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ของนายวิชิต แสวงดีผู้เสียหายเพื่อถือการครอบครองเป็นของตนบางส่วน เนื้อที่ประมาณ21 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายวิชิต แสวงดี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2) ลงโทษจำคุกคนละ1 ปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 โจทก์ร่วมซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1004 เนื้อที่ 47 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรีตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 จากนายจรัญ ยลอารีย์ ในราคาไร่ละ35,000 บาท ต่อมาเดือนตุลาคม 2535 จำเลยทั้งสองกับพวกนำรถไถเข้าไปปรับที่ดิน ปลูกมะพร้าว มะม่วง ไผ่ตง และปลูกกระท่อมหนึ่งหลังพร้อมกับล้อมรั่วและปักป้ายว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะนำรถไถเข้าไปปรับที่ดินในปี 2535 จำเลยทั้งสองได้เข้าปลูกมันสำปะหลังในที่ดินพิพาทตั้งแต่ที่ดินพิพาทเป็นของนายจรัญ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ตามฎีกาโจทก์เบื้องต้นที่ว่าจำเลยได้เข้าไปในที่พิพาทก่อนที่โจทก์ร่วมจะซื้อมาแต่จำเลยไม่ได้เข้าไปในที่พิพาทในลักษณะยึดถือการครอบครองเพราะการปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชล้มลุก ปลูกแล้วจำเลยก็ออกจากที่ดินพิพาทไป จำเลยไม่ได้ปลูกที่พักหรือทำรั้วอันเป็นการแสดงเจตนาครอบครองนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์แล้วปลูกมันสำปะหลัง เป็นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเพื่อถือการครอบครอง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกในขณะที่เริ่มเข้าไปปลูกพืชผลนั้น เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวแม้จำเลยจะมิได้เข้าทำอะไรในที่ดินพิพาท แต่ได้เริ่มปลูกพืชผลในฤดูกาลต่อไป ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองยึดถือที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อจำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและครอบครองตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนายจรัญอยู่ ความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของนายจรัญ ส่วนการครอบครองที่ดินของจำเลยต่อมาเป็นผลของการบุกรุก โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองหลังจากการกระทำผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วคงมีแต่เพียงผลของการบุกรุกที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่พิพาทอยู่เท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงมิใช่เป็นการบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน