แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินมรดกซึ่งมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลนั้น เมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่าได้มีการแบ่งแยกกันครอบครองเป็นสัดส่วน ต้องฟังว่าที่ดินมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการมรดกและถือว่าบรรดาทายาทที่ครอบครองที่ดินแปลงนี้อยู่ซึ่งรวมทั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย หาใช่ครอบครองเพื่อตนเองไม่ ดังนั้น ผู้ร้องที่ 1จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้ร้องที่ 2 ได้ซื้อที่ดินมรดกซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทจากผู้ร้องที่ 1 โดยทำสัญญาซื้อขายกันเอง และผู้ร้องที่ 2 ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา แต่นับถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่ถึง 10ปี ดังนี้ ผู้ร้องที่ 2 ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์.
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 689 ตำบลพลับพลาอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เฉพาะส่วนที่อยู่ทางทิศใต้จำนวนเนื้อที่ประมาณ 940 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์
ศาลชั้นต้นประกาศวันนัดไต่สวนคำร้องแล้ว ถึงวันนัดไต่สวนไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…”พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายจ๋อง อำแดงปรีมเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางจั๋งศิริ นายจ๋วน โพฉัยยัง และนางเจี๋ยน เกษราธิคุณ ผู้ร้องที่ 1เป็นบุตรคนหนึ่งของนางเจี๋ยน ที่ดินโฉนดเลขที่ 689 ตำบลพลับพลาอำเภอเมืองจันทบุรี เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา มีชื่อนายจ๋อง อำแดงปรีม เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน นายจ๋วนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2514 ตามสำเนาทะเบียนคนตายเอกสารหมาย ร.3นางเจี๊ยนถึงแก่กรรมก่อนนายจ๋วน นายจ๋องกับอำแดงปรีมถึงแก่กรรม16 ปีมาแล้ว (นับวันถึงยื่นคำร้องคดีนี้ใน พ.ศ. 2529) ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกแก่ผู้ร้องที่ 1 และทายาทผู้เป็นบุตรของนางเจี๋ยนนายจ๋วนและนางจั๋ง และถือว่าบรรดาทายาทที่ครอบครองที่ดินแปลงนี้อยู่ซึ่งรวมทั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย หาใช่ครอบครองเพื่อตนเองไม่ ดังนั้นผู้ร้องที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนตรงกลางโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้ร้องที่ 2 ได้ซื้อที่ดินส่วนตรงกลางซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทจากผู้ร้องที่ 1 โดยทำสัญญาซื้อขายกันเองและผู้ร้องที่ 2 ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้แล้วยังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องที่ 2 จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์…”
พิพากษายืน.