คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับและผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เท่านั้น มิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย จึงมีผลเท่ากับจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศมาเลเซียตามฟ้องจริง โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ ส่วนปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะเหตุอื่นและขัดต่อกฎหมายไทยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยให้การว่า ได้ตกลงกับโจทก์คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ14 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 14 ต่อปี ตามที่ตกลงไว้จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยฎีกาว่าควรเสียดอกเบี้ยหลังจากบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงแล้วในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 7 จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซีย นายยับก็อง ผู้จัดการสาขาในประเทศไทยได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นเงิน 2,700,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวในวงเงิน2,000,000 บาท หลังจากวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ติดต่อกับโจทก์อีก นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 เป็นต้นมาโจทก์คิดดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 จากเดิมร้อยละ 14 ต่อปี ตามที่ตกลงกันเป็นร้อยละ 16, 18 และ 19 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2526 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 3,022,144.57 บาท โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน3,022,144.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 17.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่มีดวงตราของโจทก์ประทับ ผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงกรรมการและเลขานุการไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาทเท่านั้น ดอกเบี้ยตามฟ้องไม่ถูกต้อง โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น จำเลยผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 ถึงเดือนกรกฎาคม 2522 เป็นเงินรวม 270,000 บาท
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์2,023,333.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2523 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2523และอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ในยอดเงินที่ค้างในวันที่ดังกล่าวโดยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์จำนวน 2,023,333.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 จนถึงวันที่30 มิถุนายน 2523 โดยหักหนี้ให้จำเลยแต่ละครั้งตามจำนวนเงินและกำหนดเวลาที่จำเลยนำเงินเข้าฝากดังกล่าวข้างต้น และให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในยอดเงินที่ค้างในวันถัดจากวันที่บัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเป็นต้นไป โดยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกามา 2 ประเด็น คือประเด็นแรก นายยับก็อง ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์ไม่มีหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ รวมทั้งหลักฐานเป็นหนังสือว่า ผู้ลงชื่อมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์และขัดต่อกฎหมายไทย เห็นว่า จำเลยให้การว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับ และผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เท่านั้น มิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย จึงมีผลเท่ากับจำเลยยอมรับว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศมาเลเซียตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ นอกจากนี้โจทก์มีนายยับก็อง ผู้จัดการสาขาของโจทก์ในประเทศไทยมาเบิกความว่า ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 นายโมฮาเหม็ดไท็ปบิน อับดุลฮามัด และนายทีเค็งจู ผู้ลงนามแทนโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยมีนายลีอองตั๊กออน โนตารีปับลิกของประเทศมาเลเซียลงนามรับรองด้วยตรงกับข้อความที่ปรากฏในหนังสือรับรองของโนตารีปับลิก และหนังสือมอบอำนาจ จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายยับก็องได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีนี้และมีอำนาจฟ้องจำเลย ส่วนปัญหาอื่นเกี่ยวกับประเด็นนี้ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นข้อที่สอง ขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องดอกเบี้ยจากร้อยละ 14 ต่อปี ในยอดเงินที่ค้างในวันถัดจากวันที่บัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง เป็นดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดเรื่องอัตราดอกเบี้ย กำหนดส่งดอกเบี้ย และนำดอกเบี้ยมาทบต้นได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และหักทอนตามบัญชีเดินสะพัดแล้ว โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ข้อ 3.2 มีความว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์คิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ดังนั้นที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 14 ต่อปี ตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่าควรเสียดอกเบี้ยหลังจากบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงแล้วในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share