คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พนักงานต้องไม่กระทำความผิดทางอาญา และจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานกระทำความผิดอย่างร้ายแรง และประกาศของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยหรือหน่วยงานราชการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของพนักงานจะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยคือ เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย การที่โจทก์มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษแม้จะเป็นเพียงผู้เสพและได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นผลเสียหายกับองค์กรอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมและใช้ค่าเสียหายเดือนละ 15,892 บาท ถ้าไม่อาจรับกลับเข้าทำงานได้ ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 23,837.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 158,919.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 572,112 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 9 เรื่องวินิจฉัยและการลงโทษข้อ 9.9 ห้ามมิให้พนักงานของจำเลยกระทำความผิดทางอาญาและจำเลยมีประกาศที่ ADM 065/2552 ข้อ 1 ว่า เมื่อบริษัทหรือหน่วยงานราชการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของพนักงานจะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและหนังสือของสถานีตำรวจภูธรอำเภอปลวกแดง ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์กระทำผิดทางอาญาอันเป็นการทำผิดข้อบังคับในการทำงาน ต่อมาโจทก์ได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองมีคำสั่งปล่อยตัวโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2553
ที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่าโจทก์ได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งปล่อยตัวโจทก์ จึงไม่ถือว่าโจทก์เป็นอาชญากร แต่เป็นผู้เสียหายที่จะต้องได้รับการเยียวยา กรณีของโจทก์จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 9.9 พนักงานต้องไม่กระทำความผิดทางอาญา และข้อ 11.2.3 จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานกระทำความผิดอย่างร้ายแรง และตามประกาศที่ ADM 065/2552 เมื่อจำเลยหรือหน่วยงานราชการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของพนักงานจะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยคือ เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ดังนั้น การที่โจทก์มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษแม้จะเป็นเพียงผู้เสพและได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นผลเสียหายกับองค์กรอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share