คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา335(11)วรรคแรกขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์ที่ลักว่าเป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือไม่หาได้จำกัดว่าต้องเป็นการลักทรัพย์ที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างครอบครองดูแลรับผิดชอบเท่านั้นไม่แม้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ของกลางที่ลักไปจากคลังสินค้าของนายจ้างของจำเลยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา335(11)วรรคแรก การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา336ทวิดูที่เจตนาของผู้กระทำผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมหรือไม่ส่วนยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ได้ลักน้ำมันพืช 24 ขวด ปลากระป๋อง 100 กระป๋อง รวมเป็นเงิน 1,194 บาทของผู้เสียหายไป โดยจำเลยใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นรถยนต์ของผู้เสียหายเป็นยานพาหนะ เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์ดังกล่าวไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมน้ำมันพืชและปลากระป๋องดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 336 ทวิ
จำเลย ให้การ ปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 3 ปี จำเลยยอมรับผิดต่อนายจ้างทั้งได้นำสินค้ามาคืนให้ อันเป็นการลุแก่โทษกรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรกนั้น ขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์ที่ลักว่าเป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือไม่ หาได้จำกัดว่าต้องเป็นการลักทรัพย์ที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างครอบครองดูแลรับผิดชอบเท่านั้นดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นแม้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ของกลางที่จำเลยลักไปรวมทั้งทรัพย์สินใด ๆ ในคลังสินค้าของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ส่วนปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ หรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะถือว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ทวิ นั้น จะต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ ส่วนยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้นจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายมีมีหน้าที่ขับรถลักเอาน้ำมันพืช 24 ขวด และปลากระป๋อง 100 กระป๋องจากคลังสินค้าของผู้เสียหายไปแล้วนำไปวางไว้บนรถยนต์กระบะของผู้เสียหายขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เช่นนี้ย่อมเห็นเจตนาของจำเลยได้ได้ชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาใช้รถยนต์กระบะคันดังกล่าวเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายขณะที่บรรทุกอยู่บนรถซึ่งจำเลยมีหน้าที่ขับบรรทุกขนส่งแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336ทวิศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ทำหนังสือแนบมาในฎีกาจำเลยว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีต่อไปโดยรอการลงโทษจำเลยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำเห็นสมควรคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีและให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน จนกว่าจะพ้นกำหนดรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56(1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share