แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้จัดการทำผิดน่าที่ความรับผิดชอบ อำนาจหุ้นส่วนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
ย่อยาว
จำเลยเปนผู้จัดการบริษัทเรือเมล์จีนสยาม จำเลยเลินเล่อขายเรือไฟของบริษัททำให้บริษัทเสียหาย เวลานี้บริษัทได้เลิกจากกันแล้ว แต่ผู้ชำระบาญชีไม่ฟ้องจำเลย โจทย์จึงฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายส่วนตัวเปนเงิน ๑๐๖๘๒ บาท ๙๗ สตางค์ จำเลยปฏิเสธความรับผิดชอบแลตัดฟ้องว่าฟ้องโจทย์ขาดอายุความ ศาลแพ่งตัดสินให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทย์ตามฟ้อง ส่วนข้อตัดฟ้องนั้นศาลแพ่งวินิจฉัยว่าฟังไม่ขึ้น เพราะโจทย์ไม่ได้ประชุม แลตามสมุดรายงานประชุมไม่ปรากฎว่าได้มีการประชุมถึงเรื่องขายเรือดุสิตเลย ส่วนบาญชีสำหรับปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ซึ่งรายงานอ้างถึง ก็ไม่มีรายงานถึงเรื่องขายเรือดุสิต แต่บาญชีกำไรขาดทุนสำหรับปีนั้นในช่องรายงานเขียนไว้เปนภาษาอังกฤษว่า S/L Dusit(Loss) Tcs III,๕๙๗.๐๔ ตามคำแปลที่จำเลยนำส่งมีว่า “เรือไฟดุสิต (ขาดทุน) ๑๑๑,๕๙๗ บาท ๐๔ สตางค์” ข้อความในบาญชีนี้ที่จดว่าขาดทุนนั้นไม่ปรากฎว่าเปนการขายไปขาดทุนฤาว่าขาดทุนในการเดิรเรือดุสิต จะให้สันนิษฐานว่าผู้ที่ไปประชุมต้องอ่านเข้าใจ แลได้กระทำการตกลงรับรองกิจการนั้นด้วยไม่ได้ แลจำเลยไม่ได้นำพยานมาสืบว่า ในการประชุมนั้นจำเลยได้พูดขอให้ที่ประชุมรับรองในเรื่องขายเรือดุสิตเลย คดีไม่เข้าหลักมาตรา ๑๗๑ ตามข้อตัดฟ้องจำเลย จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามที่โจทย์ฟ้องให้โจทย์ ศาลอุทธรณ์กรุงเทพ ฯ ตัดสินยืน จำเลยฎีกาในข้อที่ว่าฟ้องโจทย์ขาดอายุความข้อเดียว ฯ
ฎีกาตัดสินว่า จำเลยทำผิดนอกเหนืออำนาจที่จำเลยมีอยู่ เมื่อจำเลยจะร้องขอความรับรองต่อที่ประชุมในเหตุผลที่ได้กระทำผิดมาแล้ว จำเลยควรนำความข้อนี้ขึ้นพูดโดยฉะเพาะ เพราะไม่ใช่กิจธรรมดาที่ตนได้กระทำอยู่ จำเลยไม่ควรนิ่งเฉยปล่อยไว้ให้เปนเงาเลือน ๆ ในบาญชีซึ่งอาจทำให้ที่ประชุมอ่านแปลความเปนอย่างอื่นได้ ดังที่ศาลแพ่งได้ยกขึ้น อธิบายไว้ จะฟังว่าการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ รับรองการที่จำเลยขายเรือดุสิตไม่ได้ เมื่อไม่ฟังว่าที่ประชุมได้รับรองการขายเรือดุสิตแล้ว ข้อคัดค้านในเรื่องอายุความ ๖ เดือนตามหลัก มาตรา ๑๗๑ ก็เปนอันตกไป จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่าง ให้ยกฎีกาจำเลย