คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารจากจำเลย แต่จำเลยมิได้ก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดถือเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยเห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ จำเลยชอบที่จะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างอาคารจากโจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเช่นนั้น ดังนั้น เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยยังไม่สามารถส่งมอบอาคารให้โจทก์ได้ สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเลิกกันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(6) เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดาวน์และเงินค่างวดคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยไม่มีข้อวินิจฉัยว่าจำเลยไม่สุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีอย่างไร จึงไม่มีเหตุที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมอาคารทาวน์เฮ้าส์ เนื้อที่ 24ตารางวา จากจำเลยในราคา 1,980,000 บาท โดยจำเลยตกลงก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 24 เดือนนับตั้งแต่วันทำสัญญา โจทก์ได้ชำระเงินตามสัญญาให้แก่จำเลยแล้ว รวมเป็นเงิน 1,144,000 บาท แต่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และแจ้งให้จำเลยคืนเงินที่รับไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 303,267.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,447,267.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,144,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่างวดให้ครบถ้วนตามสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยกำหนดเวลา30 วันที่โจทก์แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาน้อยเกินไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,447,267.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,144,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่22 พฤษภาคม 2541) จนถึงวันชำระเสร็จ ให้เปลี่ยนจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ15 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2536 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารจากจำเลยในราคา 1,980,000 บาท โดยผ่อนชำระ80 งวด โจทก์ได้ชำระเงินค่าจอง ชำระเงินงวดแรกและงวดที่สองแก่จำเลยแล้วเป็นเงินจำนวน 220,000 บาท ทั้งยังชำระเงินค่างวดให้จำเลยอีก 42 งวด รวมเป็นเงินจำนวน1,144,000 บาท จำเลยก่อสร้างอาคารไม่เสร็จตามสัญญาโจทก์จึงขอระงับการชำระเงินค่างวด จำเลยตกลงยินยอม ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยก่อสร้างอาคารให้เสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ภายใน 30 วัน หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ถือเป็นการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายเจษฎา สินประเสริฐกุล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า หลังจากโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินและอาคารจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้ผ่อนชำระค่าที่ดินและอาคารให้แก่จำเลยตลอดมาจนถึงงวดที่ 42 จำเลยก็ยังไม่ทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือขอระงับการชำระเงินตามสัญญาตั้งแต่งวดที่ 43 เป็นต้นไป ซึ่งจำเลยก็ตกลงยินยอมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคาร ข้อ 5 จำเลยผู้จะขายจะต้องก่อสร้างอาคารที่ตกลงจะซื้อขายให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 24 เดือนนับแต่วันทำสัญญา การขยายระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือนดังกล่าว สามารถขยายออกไปได้เมื่อมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุอื่นเช่น อัคคีภัย การนัดหยุดงาน ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารแล้ว โจทก์ได้ผ่อนชำระค่างวดให้แก่จำเลยตลอดมา แต่เมื่อครบกำหนด 24 เดือนนับแต่วันทำสัญญา จำเลยก่อสร้างอาคารตามสัญญาไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นตามสัญญาเกิดขึ้น อันจะทำให้จำเลยไม่อาจก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 24 เดือนนับแต่วันทำสัญญาได้ จำเลยจึงอ้างว่า เหตุที่การก่อสร้างล่าช้าเพราะจำเลยใช้วัสดุแบบคอนกรีตพิเศษโดยใช้เทคนิคใหม่หาได้ไม่ การก่อสร้างอาคารจะใช้วิธีใดเป็นเรื่องของจำเลย ซึ่งจำเลยย่อมต้องคำนวณระยะเวลาในการก่อสร้างไว้แล้วเมื่อทำสัญญากับโจทก์ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดจึงเป็นการผิดสัญญา หลังจากครบกำหนดการก่อสร้างตามสัญญาแล้วโจทก์ยังคงผ่อนชำระค่างวดให้แก่จำเลยต่อมาจนถึงงวดที่ 42 แสดงว่าโจทก์ยังมีความประสงค์ที่จะให้จำเลยก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่เมื่อโจทก์ผ่อนชำระค่างวดมาถึงงวดที่ 42 ซึ่งเป็นระยะเวลานับแต่วันทำสัญญาประมาณ 3 ปี6 เดือน ปรากฏว่าจำเลยก็ยังก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ระยะเวลาดังกล่าวเนิ่นนานพอที่จะทำให้จำเลยสามารถก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ แต่จำเลยก็เพิกเฉยไม่ทำการก่อสร้างอาคารต่อไปให้แล้วเสร็จ เมื่อการก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 โจทก์จึงได้ทำเอกสารถึงจำเลยขอยุติการชำระค่างวดตั้งแต่งวดที่ 43 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะส่งมอบอาคารให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยได้ตามสัญญาซึ่งจำเลยก็ตกลงให้โจทก์หยุดการชำระค่างวดได้ จนกว่าจำเลยจะส่งมอบอาคารให้โจทก์หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าจำเลยมิได้ทำการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ โดยคงหยุดการก่อสร้างตลอดมา การที่โจทก์ขอหยุดผ่อนการชำระค่างวดและจำเลยก็เห็นชอบแล้ว เป็นการที่โจทก์กระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายของโจทก์ โจทก์มิได้เป็นผู้ผิดสัญญาแต่ประการใด เมื่อจำเลยไม่ก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยซึ่งจำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่จำเลยก็ไม่อาจส่งมอบที่ดินและอาคารให้โจทก์ได้ ที่จำเลยอ้างว่าระยะเวลา 30 วัน ไม่พอที่จำเลยจะปฏิบัติตามสัญญาได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับหนังสือให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์ เมื่อจำเลยเห็นว่าระยะเวลา 30 วัน ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้หากจำเลยมีความสุจริตในการปฏิบัติตามสัญญาจริง จำเลยก็ชอบที่จะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างอาคารจากโจทก์ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างจากโจทก์ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน จำเลยยังไม่อาจส่งมอบอาคารให้โจทก์ได้ จึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จโดยที่ไม่มีผู้ใดอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(6)โดยที่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดาวน์และเงินค่างวดคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในส่วนดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 15ต่อปี โดยตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้มีข้อวินิจฉัยว่า จำเลยไม่สุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีนี้อย่างไร ทั้งตามสำนวนก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยสู้ความโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่มีเหตุตามบทบัญญัติมาตรา 142(6) ที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งฎีกาในข้อนี้ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share