คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงินประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะโดยการให้กู้ยืมเงินให้เบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นที่สามารถ ทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้าโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน เป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นจำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ ย่อมสามารถทำ ธุรกิจการเงินกับโจทก์ได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวิธีใดวิธีหนึ่ง เพียงอย่างเดียว การที่จำเลยกู้ยืมเงิน ขอเบิกเงินเกินบัญชีและขายลด ตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ต่างกัน แต่ทุกประการล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง จำเลยจึง สามารถนำที่ดินและทรัพย์สินหลายรายการมาจดทะเบียนจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ก่อขึ้นทั้งหมดกับโจทก์ โดยมิได้ แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทไหนรายการใด มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ฟ้องมาเป็นคดีเดียวกัน ได้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ(1)ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม โดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่า ที่จะต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาท คืนโจทก์ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2543)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทกู้ยืมเงิน เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ จำนวน 5,500,000 บาท จำเลยที่ 1ได้รับเงินกู้ไปแล้ว จำนวน 5,300,000 บาท เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2534 จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ เพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด และต่อมาได้ขอเบิกเงินเกินบัญชี ในวงเงิน 1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ในบัญชีดังกล่าว จำนวน 2,761,714.87 บาท หลังจากนั้นได้ขอเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีอีก 1,500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาเดิมเมื่อวันที่ 25สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินกับโจทก์จำนวน 5,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีหรืออัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2 ฉบับ จำนวนเงิน 1,000,000 บาท และ 4,800,000 บาทตามลำดับ มาขายลดแก่โจทก์ เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 36217, 36218, 36219, 36220 และ 36221 ตำบลแพรกษาอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 16,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ได้จำนองเครื่องทอผ้า และเครื่องกรอด้าย หมายเลขทะเบียน 35-326-201-0451 ถึง35-326-201-0554 และ 35-326-201-0555 ถึง 35-326-201-0556รวม 106 เครื่อง ในวงเงิน 2,700,000 บาท ตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอ ยอมให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้ได้จนครบถ้วน ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โดยชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์เพียงบางส่วน คงค้างชำระต้นเงินกู้และค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,953,161 บาทดอกเบี้ย จำนวน 1,346,073.56 บาท รวมเป็นเงิน4,299,234.56 บาท สำหรับหนี้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีหลายครั้งหลายหน คงค้างชำระต้นเงิน16,575,112.41 บาท ดอกเบี้ย 2,027,613.07 บาท รวมเป็นเงิน18,602,725.48 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับถึงกำหนด โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงค้างชำระต้นเงินแก่โจทก์ จำนวน 5,800,000 บาทดอกเบี้ย 2,479,578.05 บาท รวมเป็นเงิน 8,279,578.05 บาทรวมยอดหนี้ทั้งสามประเภทถึงวันฟ้องเป็นเงิน 31,181,538.09 บาทจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 31,181,538.09บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 25,328,273.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 36217, 36218, 36219, 36220และ 36221 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับเครื่องทอผ้า และเครื่องกรอด้าย หมายเลขทะเบียน35-326-201-0451 ถึง 35-326-201-0554 และ 35-326-201-0555ถึง 35-326-201-0556 รวม 106 เครื่อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ได้ออกคำสั่งว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญาขายลดตั๋วเงินรวมสามมูลหนี้ ซึ่งหนี้ดังกล่าวสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาเพียง 200,000 บาท จึงให้ชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนก่อนฟังคำพิพากษา

โจทก์วางเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก 307,483 บาท และทำคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน23,433,942.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน2,916,658 บาทนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2538 จากต้นเงิน 36,503 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2540 จากต้นเงิน 14,680,781.71 บาท นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2539 จากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2538 และจากต้นเงิน 4,800,000 บาท นับแต่วันที่2 มิถุนายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง คำนวณจากต้นเงิน 2,916,658 บาท และ 36,503 บาทคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 1,346,073.56 บาท จากต้นเงิน 1,000,000 บาทและ 4,800,000 บาท คำนวณแล้วต้องไม่เกิน 2,479,578.05 บาทตามคำขอของโจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 36217, 36218,36219, 36220 และ 36221 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องทอผ้า และเครื่องกรอด้ายหมายเลขทะเบียน 35-326-201-0451 ถึง 35-326-201-0554 และ35-326-201-0555 ถึง 35-326-201-0556 รวม 106 เครื่อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ โจทก์จึงรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันและเสียค่าขึ้นศาลตามอัตราสูงสุดได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงินประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ซึ่งทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะโดยการให้กู้ยืมเงิน ให้เบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินหรือด้วยประการอื่นที่สามารถทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้าโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นจำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าโจทก์ ย่อมสามารถทำธุรกิจการเงินกับโจทก์ได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน ขอเบิกเงินเกินบัญชี และขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ต่างกัน แต่ทุกประการล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง จำเลยทั้งสองจึงสามารถนำที่ดินและทรัพย์สินหลายรายการมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองที่ก่อขึ้นทั้งหมดกับโจทก์ โดยมิได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทไหนรายการใด มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งข้อ (1)ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย

พิพากษากลับ ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาทคืนโจทก์

Share