แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสิบสำนวนเป็นนิติบุคคลรายเดียวกัน ศาลสั่งรวมพิจารณาสำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 9 ซึ่งจำเลยได้ยื่นใบแต่งทนาย และคำให้การเป็นหนังสือไว้แล้ว ต่อมาศาลสั่งรวมพิจารณาสำนวนที่ 10 เข้ากับสำนวนทั้งเก้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายและคำให้การในสำนวนที่ 10 ซึ่งน่าจะเป็นเพราะหลงลืมหรือพลั้งเผลอ ดังนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 39 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสอบถามคำให้การด้วยวาจาของจำเลยสำนวนที่ 10 และบันทึกไว้หากจำเลยไม่ยอมให้การ ศาลไม่ปฏิบัติเกี่ยวกับจำเลยสำนวนที่ 10 ตามที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ และสั่งสืบพยานโจทก์สำนวนที่ 10 ไปโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสำนวนที่ 10ประสงค์จะให้การหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นลูกจ้างจำเลยต่อมา พ.ศ. 2527 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบด้วยเหตุไม่มีงานให้ทำ โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค้าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย และค่าเสียหายขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ฯลฯ
จำเลยสำนวนที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน สัญญาว่าจ้างกระทำในต่างประเทศมิได้มีข้อตกลงให้ฟ้องคดีได้ในศาลไทย จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับสินจ้างในการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นฟ้องเคลือบคลุมจำเลยมีสิทธิบอกเลิกการจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยสำนวนที่ 10 มิได้ให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบเป็นบางประเภท
โจทก์ที่ 10 และจำเลยสำนวนที่ 1 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยเสียก่อน และวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ที่ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเพราะสั่งตัดพยานจำเลย ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีไปสืบพยานในนัดต่อไปอีกว่า คดีฟังได้ว่าทนายจำเลยไม่มีเจตนาประวิงคดี คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้สืบพยานจำเลยเพียง 1 ปาก โดยทนายจำเลยไม่มีโอกาสซักถามพยานที่เตรียมไว้ และสั่งตัดพยานที่เหลือทั้งหมด เป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมควรอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยไป และวินิจฉัยต่อไปถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยในสำนวนที่ 10 ว่า ศาลแรงงานกลางสั่งรวมพิจารณาสำนวนที่ 10 กับสำนวนที่ 1 ถึงที่ 9 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2527 และจำเลยสำนวนที่ 1 ถึงที่ 9 ยื่นใบแต่งทนายความและคำให้การเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2527 ศาลแรงงานกลางสั่งรับเป็นคำให้การและสำเนาให้โจทก์ แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อมาโดยมิได้สอบถามจำเลยในสำนวนที่ 10 จะให้การประการใดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีแรงงานจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การเป็นหนังสือ มาตรา 39 ให้ศาลจดคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟังและลงลายมือชื่อไว้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ให้ศาลแรงงานบันทึกไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสำนวนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดรายเดียวกัน จำเลยได้แต่งให้นางสาวอัจฉรา โตษจระ เป็นทนายความของตน แต่ในใบแต่งทนายและคำให้การได้ลงหมายเลขคดีเฉพาะ 9 สำนวนแรกแสดงว่าได้ทำใบแต่งทนายและคำให้การไว้ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งรวมการพิจารณาคดีสำนวนที่ 10 เข้ากับคดีสำนวนแรก จึงมิได้พิมพ์หมายเลขคดีสำนวนที่ 10 ในใบแต่งทนายและคำให้การ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะหลงลืมหรือพลั้งเผลอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของศาลแรงงานกลางที่จะต้องสอบถามคำให้การด้วยวาจาของจำเลยในสำนวนที่ 10 ไว้ หากจำเลยสำนวนที่ 10 ไม่ยอมให้การ ก็ต้องบันทึกไว้ตามมาตรา 39แต่ศาลแรงงานกลางก็มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 39 ดังนั้น การสืบพยานโจทก์ในสำนวนที่ 10 ไปโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสำนวนที่ 10 ประสงค์จะให้การหรือไม่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายชอบที่ศาลแรงงานกลางจะปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อน ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 10 ต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้เพิกถอนการสืบพยานโจทก์สำนวนที่ 10 กับรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2527 และการสืบพยานจำเลยในวันดังกล่าว ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำให้การของจำเลยสำนวนที่ 10 ให้ถูกต้อง โดยสืบพยานโจทก์ในสำนวนที่ 1 และพยานจำเลยใหม่ แล้วพิพากษาตามรูปความ