คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเหตุใดเป็นข้อเท็จจริงเมื่อศาลแรงงานฟังว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากผลการทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ดี ข้อเท็จจริงย่อมยุติ โจทก์จะอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่หาได้ไม่
ข้ออุทธรณ์ที่โต้เถียงฝืนข้อเท็จจริงนั้น ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย
ตามสัญญาจ้างจำเลยให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงาน 180 วัน และภายในระยะเวลานี้คู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาได้โดยแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน ข้อตกลงนี้ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จึงมีผลใช้บังคับจำเลยจะอ้างว่าระยะเวลาที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่เพียงพอมาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่
เมื่อศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนวันที่โจทก์เรียก เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง กำหนดทดลองปฏิบัติงาน ๑๘๐ วันจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เป็นการผิดสัญญาซึ่งระบุว่า ภายในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน คู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาได้ไม่ว่าเวลาใด โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า ๓๐ วันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากสาเหตุส่วนตัว เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหาย ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาโดยยังไม่จ่ายค่าล่วงเวลาซึ่งโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าล่วงเวลาพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างซึ่งกำหนดให้การเลิกจ้างต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า๓๐ วันนั้น ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ แม้สัญญาจะใช้บังคับแก่กรณีนี้ด้วยก็ใช้บังคับเฉพาะการเลิกจ้างในช่วงก่อนครบกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน ๓๐ วัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะผลของการทดลองปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะผลของการทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ดี จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนข้อที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้านั้น เมื่อสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้งให้จำเลยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน การที่ไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าย่อมเป็นการผิดสัญญาจำต้องใช้ค่าเสียหาย และฟังว่าจำเลยยังค้างชำระค่าล่วงเวลาพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินค่าล่วงเวลาแก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเหตุใดนั้น เป็นข้อเท็จจริง เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานและวินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากผลของการทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ดี ข้อเท็จจริงย่อมยุติ โจทก์จะอุทธรณ์คัดค้านเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่หาได้ไม่ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานไปแล้ว ๓ วัน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายสำหรับเวลาที่เกินนั้นโจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งว่า จำเลยจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๖ และเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นการเลิกจ้างในระหว่างระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน ไม่ใช่เลิกจ้างเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานแล้ว อุทธรณ์โจทก์โต้เถียงฝืนข้อเท็จจริง จึงไม่มีข้อเท็จจริงซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายของโจทก์ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งระบุในสัญญาจ้างเป็นเรื่องที่คู่สัญญาตกลงและกำหนดขึ้นเอง โดยเฉพาะข้อสัญญาซึ่งกำหนดให้การเลิกจ้างต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า ๓๐ วันนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับ จำเลยจะอ้างระยะเวลาที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่เพียงพอมาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการผิดสัญญาจำต้องใช้ค่าเสียหาย
อนึ่ง ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาพร้อมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่๗ ตุลาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นไป แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ เป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา ๕๒ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยของค่าล่วงเวลาให้นับตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๖เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share