แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจจะมีอำนาจฟ้องตามใบมอบอำนาจหรือไม่ และการที่โจทก์มิได้ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้น เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 (ผู้ฎีกา) ย่อมอ้างอิงในชั้นอุทธรณ์ฎีกาได้
ปัญหาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรก็วินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ใบมอบอำนาจของโจทก์นี้มีข้อความมอบอำนาจให้ ส. ให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีต่อลูกหนี้ให้ส่งมอบทรัพย์สินและใช้ค่าเสียหายมีความหมายถึงให้ฟ้องและดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 3 ผู้ยึดถือรถยนต์ของโจทก์ให้ส่งมอบรถยนต์และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้
แม้ร้านค้าของจำเลยที่ 3 อยู่ในชุมนุมการค้า แต่การที่จำเลยที่ 3 ซื้อรถยนต์พิพาทของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจาก ศ. ซึ่งเอามาขายให้ที่ที่ร้านค้าของจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 มิได้ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุมการค้า แต่เป็นการซื้อจากบุคคลที่เอามาขายให้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ 3 เอง จึงไม่เป็นการซื้อในท้องตลาดดังนั้นจำเลยที่ 3 จะสุจริตหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1372
การฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 หมายถึงผู้ที่มีเพียงสิทธิ์ครอบครองในทรัพย์สินฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินนั้นคืนจึงต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่รถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิ์ติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ได้เสมอโดยไม่มีอายุความ จึงจะนำมาตรา 1375 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองผิดนัดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว ต่อมาโจทก์ทราบว่ารถยนต์ของโจทก์อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ที่จะยึดถือรถยนต์คันนั้นไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ ๓ ไม่คืนให้ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ หากไม่ส่งมอบก็ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคารถยนต์ ๑๕,๔๐๐ บาท และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๔๓,๒๔๐ บาท และต่อจากวันฟ้องอีกเดือนละ ๑,๘๘๐ บาท จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ค้าของเก่าทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เป็นปกติธุระ มีร้านตั้งอยู่ในที่ชุมนุมการค้า จึงถือว่าตั้งอยู่ในท้องตลาดตามกฎหมาย จำเลยที่ ๓ ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากนายศิริ จันทนาในท้องตลาด จึงมีสิทธิยึดรถยนต์ไว้จนกว่าโจทก์จะชดใช้ราคาที่ซื้อมา โจทก์ไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๓ คดีโจทก์ที่เรียกค่าเสียหายขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่๑ และจำเลยที่ ๓ ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถคืนได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคา ๓๕,๕๒๐ บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ ๑,๘๘๐ บาทนับตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๓ จนถึงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๔ ต่อจากนั้นให้จำเลยที่ ๓ ร่วมใช้ค่าเสียหายในอัตราดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้แก่โจทก์ด้วย นับตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๔ จนกว่าจะส่งมอบหรือใช้ราคาให้โจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าร้านค้าของจำเลยอยู่ในชุมนุมการค้าก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ ๓ ซื้อรถยนต์จากนายศิริซึ่งเอามาขายให้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ ๓ นั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ ๓ ซื้อรถยนต์ในท้องตลาดไม่เพราะจำเลยที่ ๓ มิได้ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุมการค้า แต่เป็นการซื้อจากบุคคลที่เอามาขายให้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ ๓ เอง จึงไม่เป็นการซื้อในท้องตลาด เมื่อจำเลยที่ ๓ มิได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทในท้องตลาดแล้ว และคดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ ๓ ได้ซื้อจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นหรือไม่ ดังนั้นจำเลยที่ ๓ จะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ จำเลยที่ ๓ ต้องคืนรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์จะยึดถือไว้ได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖
สำหรับฎีกาข้อที่ ๒ ของจำเลยที่ ๓ นั้น แม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็ตาม แต่เป็นข้อที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนดตามมาตรา ๑๓๗๕ จึงเป็นการอ้างเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับไว้วินิจฉัยให้ และเห็นว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนตามมาตรา ๑๓๓๖ ได้เสมอโดยไม่มีอายุความ ส่วนมาตรา ๑๓๗๕ ที่จำเลยที่ ๒ อ้างนั้นเป็นการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีเพียงสิทธิ์ครอบครองในทรัพย์สิน ฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินนั้นคืนเท่านั้น จึงต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง กรณีของโจทก์คดีนี้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจึงจะนำมาตรา ๑๓๗๕ มาใช้บังคับมิได้
ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ ๓ เกี่ยวกับใบมอบอำนาจนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยให้ โดยเห็นว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้และศาลชั้นต้นมิได้กะเป็นประเด็นนำสืบไว้ก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจจะมีอำนาจฟ้องตามใบมอบอำนาจหรือไม่นั้นเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ ๓ จึงชอบที่จะยกขึ้นอ้างอิงในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน และเห็นว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๙ นั้น มีข้อความมอบอำนาจให้นายโสภณ ดวงจิตต์งาม มีอำนาจที่จะดำเนินการฟ้องคดีและดำเนินคดีแทนในนามของโจทก์ต่อลูกหนี้ทั้งหลายตลอดจนผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ยังศาลใด ๆ ที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้ศาลบังคับให้บุคคลดังกล่าวทำการชำระหนี้ชำระเงินใช้ค่าเสียหาย ส่งมอบทรัพย์สิน ใช้เงินค่าดอกเบี้ย หรือเงินค่าอื่นใดอันจำเป็นต้องใช้เนื่องจากการเป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ ฯลฯ ข้อความที่ว่าให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีต่อลูกหนี้ทั้งหลายให้ส่งมอบทรัพย์สินและใช้ค่าเสียหายนั้น ย่อมมีความหมายกว้างพอที่จะหมายถึงให้ฟ้องและดำเนินคดีต่อจำเลยที่ ๓ ผู้ยึดถือรถยนต์ของโจทก์และจะต้องส่งมอบรถยนต์และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย นายโสภณ ดวงจิตต์งาม ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ได้
พิพากษายืน.