คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายโจทก์แถลงต่อศาลว่า โจทก์นำพยานมาศาลสองปาก คือ ตัวทนายโจทก์ และ ร. เมื่อประเด็นรับฟังกันได้เป็นส่วนมาก โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานสองปากนี้ และติดใจสืบตัวโจทก์กับ ว. เพียง 2 ปาก วันนี้ไม่มาศาล โจทก์ขอเลื่อนคดี ทนายจำเลยมิได้คัดค้านประการใด จึงเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ต่อ ดังนี้ จำเลยจะมาคัดค้านว่าศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ไม่ชอบหาได้ไม่ และการที่โจทก์นำพยานที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบเข้าเบิกความต่อศาล ทนายจำเลยก็ได้ซักค้านพยานปากนี้โดยมิได้โต้แย้งประการใด แม้ต่อมาจำเลยจะได้ยื่นคำแถลงคัดค้าน ก็ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะรับฟังพยานดังกล่าว
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คเอาเอง ทั้งไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ใดลงวันที่ในเช็คไม่ถูกต้องและปราศจากอำนาจ จึงต้องฟังว่าวันที่ปราฏในเช็คนั้นเป็นวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขึ้นเงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ลงในเช็ค และฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้สลักหลังได้
ตามคำแถลงรับของคู่ความ จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คทุกฉบับ ประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คหรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามที่จำเลยยอมรับ และจำเลยรับต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาฉะเชิงเทรา จำนวน ๑๑ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๕๕,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลัง ครั้นถึงกำหนดวันสั่งจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งหมด อ้างว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” บ้าง “บัญชีปิดแล้ว” บ้าง ดังภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คท้ายฟ้อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันครบกำหนดของเช็คแต่ละฉบับ จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน ๑,๐๓๑ บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน ๕๖,๐๓๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน ๕๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณา ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เช็ค ๑๑ ฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้จ่ายให้โจทก์ แต่จ่ายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งบุคคลที่ปรากฏชื่อในเช็คได้นำไปเรียกเก็บเงินแล้ว แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คตามฟ้อง โจทก์ก็ฟ้องจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ ๑ ออกเช็คไม่ใช่เพื่อชำระหนี้ แต่ออกเช็คให้เป็นประกันในการเล่นแชร์ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คทั้ง ๑๑ ฉบับ คดีจึงขาดอายุความ จำเลยที่ ๑ ออกเช็คให้แก่ผู้ที่ปรากฏชื่อในเช็คเพราะโจทก์เป็นผู้จัดการ (หัวหน้า) วงแชร์ จำเลยที่ ๑ เปียแชร์ (ประมูลดอกเบี้ย) วงนี้ได้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องออกเช็คเท่าจำนวนผู้ที่เล่นแชร์แต่ยังไม่ได้เปียแชร์ โดยกรอกข้อความต่าง ๆ ตลอดจนจำนวนเงินไว้ทุกฉบับ แต่ยังไม่ได้ลงวันเดือนปีในเช็ค เพื่อเป็นประกันว่า ถ้าผู้เล่นคนใดเปียแชร์ได้ในคราวต่อไป จำเลยที่ ๑ จะต้องนำเงินสดจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ไปมอบให้นายวงแชร์ แล้วรับเช็คที่ออกให้นั้นกลับคืน ถ้าไม่นำเงินไปขอแลกเช็คคืน จำเลยที่ ๑ ก็ต้องลงวันเดือนปีในเช็คนั้น ๆ เพื่อผู้เปียแชร์จะได้นำเช็คนั้น ๆ ไปเบิกเงินจากธนาคาร
ก่อนสืบพยาน คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คทุกฉบับ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้น จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลังเช็ค และโจทก์ได้ทวงถามแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินตามเช็ค ๗ ฉบับ ๆ ละ ๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๒ ว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๖ ทนายโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่า โจทก์นำพยานมาศาล ๒ ปาก คือ ตัวทนายโจทก์ และนายรำพึง เมื่อประเด็นรับกันได้เป็นส่วนมาก โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานสองปากนี้ และติดใจสืบตัวโจทก์กับนายวิทยาเพียง ๒ ปาก วันนี้ไม่มาศาล โจทก์ขอเลื่อนคดี ทนายจำเลยที่ ๒ ก็มิได้คัดค้านประการใด จึงเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ต่อ ดังนี้ จำเลยที่ ๒ จะมาคัดค้านว่าศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ไม่ชอบ หาได้ไม่ และการที่โจทก์นำพยานที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบเข้าเบิกความต่อศาล ทนายจำเลยที่ ๒ ก็ได้ซักค้านพยานปากนี้โดยมิได้โต้แย้งประการใด แม้ต่อมาจำเลยที่ ๒ จะได้ยื่นคำแถลงคัดค้านลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๖ ก็ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะรับฟังพยานดังกล่าว
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คเอาเอง ทั้งไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ผู้ใดลงวันที่ในเช็คไม่ถูกต้องและปราศจากอำนาจ ฉะนั้น เมื่อเช็คหมาย จ.๑, จ.๓, จ.๕, จ.๗, จ.๙, จ.๑๑, จ.๑๓, จ.๑๕, จ.๑๗, จ.๑๘, จ.๑๙ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๕, ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๕, ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๔, ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๕, ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕, ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๔, ๒๐ มกราคม ๒๕๑๕, ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๕, ๒๐ เมษายน ๒๕๑๕, ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๔, ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๔ ตามลำดับ จึงต้องฟังว่า วันที่ปรากฏในเช็คนั้นเป็นวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขึ้นเงินภายใน ๑ เดือน นับแต่วันที่ลงในเช็ค และฟ้องคดีนี้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่เช็คถึงกำหนด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้สลักหลังได้
ส่วนฎีกาของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำแถลงรับของคู่ความ จำเลยที่ ๒ ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คทุกฉบับ ประเด็นที่ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงหรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามที่จำเลยที่ ๒ ยอมรับ และจำเลยที่ ๒ รับต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๔
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดชำระเงินตามเช็คหมาย จ.๑, จ.๙, จ.๑๕ และ จ.๑๘ เป็นเงินฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท รวม ๒๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share