คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากอาคารพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพซ่อมแซมดีแล้วและใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะส่งมอบเสร็จแก่โจทก์ ชั้นบังคับคดีปรากฏว่า ต. เช่าอาคารพิพาทบางส่วนจากจำเลยทั้งสอง ต. จึงเป็นบริวารของจำเลยทั้งสองและถือได้ว่า ต. ได้ครอบครองอาคารพิพาทแทนจำเลยทั้งสองตลอดมาถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ต่อมา ต. ได้นำกุญแจห้องในอาคารพิพาทมอบให้แก่โจทก์ต่อหน้าศาล จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นในวันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้จนถึงวันดังกล่าว
เงินหรือประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สินเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (5) (ก) ที่จะนำไปคำนวณภาษีเงินได้ แต่เงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับตามคำพิพากษาถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีละเมิดที่จำเลยทั้งสองอยู่อาศัยในอาคารพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา มาตรา 42 (13) จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีแทนโจทก์และไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ดังกล่าวจากโจทก์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากอาคารโรงแรมวงเวียน 22 กรกฎาคม และอาคารพาณิชย์ทั้งเจ็ดคูหาของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพซ่อมแซมดีแล้วและใช้ค่าเสียหายเดือนละ 130,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนกว่าจะส่งมอบเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ซ่อมแซมให้ชดใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ ชั้นบังคับคดี ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ผู้ค้ำประกัน ตามหนังสือค้ำประกันต่อศาลเพื่อทุเลาการบังคับ ตกลงชำระเงินจำนวน 9,372,000 บาท แก่โจทก์แต่ไม่พอชำระหนี้
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 2 มาทำการไต่สวนเพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองที่ยังค้างชำระหนี้อีก 2,353,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีอีกเพราะจำเลยทั้งสองชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีก จำนวน 2,348,666 บาท แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง หากไม่ชำระให้หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า จำเลยทั้งสองส่งมอบโรงแรมและอาคารพิพาทให้โจทก์เสร็จสิ้นเมื่อใด เห็นว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538 จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบกุญแจอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ต่อหน้าศาล แต่ต่อมาโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่าอาคารพิพาทบางส่วนยังมีบริวารของจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ โจทก์จึงไม่สามารถเข้าครอบครองอาคารพิพาทได้ทั้งหมดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 มกราคม 2539 ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้งแต่อย่างใด อีกทั้งต่อมานางเตียง แซ่เตียว ยื่นคำร้องลงวันที่ 12 กันยายน 2539 ขอให้ศาลไต่สวนว่าตนมีสิทธิครอบครองอาคารพิพาทบางส่วนจากการทำสัญญาเช่าจากจำเลย ตนจึงไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสอง โดยนางเตียงมิได้แสดงอำนาจพิเศษแต่อยูในฐานะผู้เช่าช่วง เมื่อฟังได้ว่านางเตียงเช่าอาคารพิพาทบางส่วนจากจำเลยทั้งสอง นางเตียงจึงเป็นบริวารของจำเลยทั้งสองและถือได้ว่านางเตียงได้ครอบครองอาคารพิพาทแทนจำเลยทั้งสองตลอดมา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2538 เมื่อปรากฏต่อมาว่านางเตียงได้นำกุญแจห้องในอาคารพิพาทมอบให้โจทก์ต่อหน้าศาลแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2540 จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นในวันดังกล่าวด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2540 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อมาว่า รายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 มกราคม 2540 แต่ไปลงเป็นปี 2539 ผิดพลาด แต่มิได้มีการแก้ไขโดยคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่านั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับหรือไม่ เห็นว่า เงินหรือประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สินเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (5) (ก) ที่จะนำไปคำนวณภาษีเงินได้ แต่เงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับตามคำพิพากษาถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีละเมิดที่จำเลยทั้งสองอยู่อาศัยในอาคารพิพาทโดยไม่มีสิทธิซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (13) จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีแทนโจทก์และไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ดังกล่าวจากโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ ก็ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share