แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมทั้งสองไปที่ร้านอาหารของ ว. เพราะต้องการหาตัวคนที่ด่าโจทก์ร่วมที่ 2 เกี่ยวกับการขับรถ แต่ ว. และจำเลยบอกโจทก์ร่วมทั้งสองว่าไม่มีคนด่าให้กลับไปเสีย โจทก์ร่วมทั้งสองก็ยังไม่ยอมกลับ แต่พยายามหาตัวคนด่าให้ได้ พฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมทั้งสองเข้าไปหาจำเลยหลังจากที่โจทก์ร่วมทั้งสองถูกด่าย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ การที่โจทก์ร่วมทั้งสองเข้าไปก่อเหตุวิวาทกับจำเลยโดยเข้าใจว่าจำเลยด่าตน ทั้งที่จำเลยและ ว. บอกโจทก์ร่วมทั้งสองว่าจำเลยไม่ได้ด่า โจทก์ร่วมทั้งสองก็ยังหาเรื่องกับจำเลยอยู่อีก ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 39 ปี โจทก์ร่วมที่ 1 อายุ 25 ปี และโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 21 ปี จำเลยย่อมเกิดความรู้สึกโกรธที่โจทก์ร่วมทั้งสองอายุน้อยกว่ามากมาหาเรื่อง ทั้งยังผลักอกจำเลยอันเป็นการแสดงว่าจะทำร้ายจำเลยอีกด้วย การกระทำของโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการข่มเหง่จำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสองในทันที จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธปืน ส่วนข้อหาอื่นจำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณานายศักดิ์ชัย แซ่หว่อง ผู้เสียหายที่ 1 และนายกิตติพงษ์ เชิญขวัญศรี ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 80 และ 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าโดยบันดาลโทสะจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 4,000 บาท ความผิดฐานพยายามฆ่าโดยบันดาลโทสะ ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และความผิดฐานพาอาวุธปืน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามและกึ่งหนึ่งตามลำดับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี และปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่า จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษปรับฐานพาอาวุธปืนแล้ว คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดด้วยเหตุบันดาลโทสะหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีตัวโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นพยานเบิกความว่า ระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถยนต์กระบะแล่นผ่านร้านอาหาร มีเสียงตะโกนด่า โจทก์ร่วมที่ 2 จึงขับรถวนไปจอดด้านตรงกันข้ามกับร้านนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองลงจากรถเดินไปที่หน้าร้านนั้นแล้วสอบถามว่าใครด่า จำเลยไม่ตอบ พี่สาวจำเลยตอบว่าไม่มีใครด่า ให้โจทก์ร่วมทั้งสองกลับไปเสีย ทันใดนั้นจำเลยควักอาวุธปืนออกจากเอวแล้วยิงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ศีรษะ 1 นัด โจทก์ร่วมที่ 1 วิ่งหนี จำเลยจึงหันมายิงโจทก์ที่ 2 ถูกที่ท้อง 1 นัด และแขนขวา 1 นัด จำเลยมีตัวจำเลย นางวิมล อังคารประเสริฐ และนางสาวอังคณา อังคารประเสริฐ เป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุนางวิมลกับลูกจ้างกำลังเก็บของในร้านอาหาร ระหว่างนั้นโจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถผ่านร้านด้วยความเร็ว มีเสียงตะโกนด่าจากข้างทาง โจทก์ร่วมที่ 2 จึงจอดรถแล้วเดินลงมาที่ร้านของนางวิมลเพื่อหาตัวคนด่า แต่นางวิมลบอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าไม่มีใครด่า ให้กลับไปเสีย โจทก์ร่วมที่ 2 จึงขับรถออกไปแต่แล้วก็ขับวนกลับมาจอดบริเวณฝั่งตรงกันข้ามกับร้านแล้วโจทก์ร่วมทั้งสองเดินกลับมาที่ร้านนางวิมลอีก โจทก์ร่วมที่ 2 สอบถามว่าใครด่า นางวิมลและจำเลยบอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าไม่มีใครด่า ให้กลับไปเสีย ขณะนั้นมีพวกของโจทก์ร่วมทั้งสองประมาณ 4 ถึง 5 คน วิ่งมาที่ร้าน โจทก์ร่วมที่ 1 เข้ามาชกจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนตบโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ศีรษะด้านซ้ายทำให้ปืนลั่น 1 นัด โจทก์ร่วมที่ 2 จึงเข้าไปชกจำเลยอีก จำเลยจึงยิงโจทก์ร่วมที่ 2 ถูกที่ท้อง 1 นัด และที่แขน 1 นัด เห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสองไปที่ร้านอาหารนางวิมล เพราะต้องการหาตัวคนที่ด่าโจทก์ร่วมที่ 2 เกี่ยวกับการขับรถ แต่นางวิมลและจำเลยบอกโจทก์ร่วมทั้งสองว่าไม่มีคนด่าให้กลับไปเสีย โจทก์ร่วมทั้งสองก็ยังไม่ยอมกลับ แต่พยายามหาตัวคนด่าให้ได้ พฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมทั้งสองเข้าไปหาจำเลยหลังจากที่โจทก์ร่วมทั้งสองถูกด่า ย่อมมิใช่เหตุการณ์ปกติ เมื่อพิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.3 ซึ่งจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนั่นเอง เชื่อว่าจำเลยมิได้เตรียมให้การไว้ก่อนล่วงหน้า คำให้การส่วนใหญ่สอดคล้องกับคำเบิกความในชั้นพิจารณา น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมทั้งสองโกรธที่ถูกด่าจึงลงจากรถเพื่อเอาเรื่องแก่คนที่ด่า โดยโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าใจว่าจำเลยด่าตน แต่เมื่อสอบถามแล้วจำเลยไม่รับว่าตนด่าโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ยอมกลับ และโจทก์ร่วมที่ 2 ผลักอกจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยเกิดโทสะจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสอง การที่โจทก์ร่วมทั้งสองเข้าไปก่อเหตุวิวาทกับจำเลย โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเข้าใจว่าจำเลยด่าตน ทั้งที่จำเลยและนางวิมลได้บอกโจทก์ร่วมทั้งสองว่าจำเลยไม่ได้ด่า โจทก์ร่วมทั้งสองก็ยังหาเรื่องกับจำเลยอยู่อีก ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 39 ปี โจทก์ร่วมที่ 1 อายุ 25 ปี และโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 21 ปี จำเลยย่อมเกิดความรู้สึกโกรธที่โจทก์ร่วมทั้งสองอายุน้อยกว่ามากมาหาเรื่องเช่นนี้ ทั้งยังผลักอกจำเลยอันเป็นการแสดงว่าจะทำร้ายจำเลยอีกด้วย การกระทำของโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสองในทันทีนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น