คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1357ที่ว่าเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดคู่ความมีสิทธิที่จะนำสืบให้รับฟังเป็นอย่างอื่นและสามารถนำพยานบุคคลมานำสืบหักล้างพยานเอกสารสัญญาจำนองและสัญญาซื้อขายที่ดินที่แสดงการเป็นเจ้าของรวมนั้นได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ร่วมกันซึ่งเดิมมีนายปั๋น มะธุ และนางตุ่น มะธุ เป็นเจ้าของร่วมกัน ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2488นางตุ่นยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวาให้แก่นายเรือน ตาคำ และนางแว่น สมฟอง เมื่อนางแว่นถึงแก่ความตาย นายคำปัน สมฟอง ได้รับมรดกส่วนของนางแว่นและนายคำปันได้ยกที่ดินดังกล่าวทั้งหมดให้นายปั๋น ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2520 นายปั๋นขายที่ดินส่วนของตนทั้งหมด9 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ให้แก่นายดวงต๋า สมการ และนายบุญรัตน์ นามน้อย และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2531 นายดวงต๋าได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวาให้แก่โจทก์ทั้งสอง ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2531 นายเรือนได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตน เนื้อที่ 3 ไร่ 84 ตารางวาให้แก่จำเลยทั้งสอง วันที่ 4 กรกฎาคม 2531 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งเป็นมรดกของนายบุญรัตน์ เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวาโจทก์ทั้งสองจึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดดังกล่าวจำนวน9 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ส่วนจำเลยทั้งสองได้นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ปรากฏว่ามีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากโฉนด30 ตารางวา และแบ่งที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสองติดทางสาธารณประโยชน์ทั้งหมด เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา โดยแบ่งส่วนที่ไม่ติดทางสาธารณประโยชน์ 7 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองโต้แย้งการนำรังวัดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ยินยอม ขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้ที่ดินติดทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศใต้ 80 เมตร ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้อง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามแผนที่ท้ายคำฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า นายปั๋น และนางตุ่นมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแต่ไม่มีที่ดินคนละครึ่งเมื่อนางตุ่นยกที่ดินให้แก่นายเรือน และนางแว่นแล้วนายปั๋น นายเรือน นางแว่น ได้แบ่งที่ดินแยกกันครอบครองเป็นสัดส่วนโดยนายปั๋น และนางแว่นได้ครอบครองที่ดินหมายอักษร ก.ข. ตามแผนที่ท้ายคำให้การเนื้อที่ประมาณคนละ 3 ไร่3 งาน 13 ตารางวา ส่วนนายเรือนครอบครองที่ดินหมายอักษร ค.เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา และเมื่อวันที่ 19กรกฎาคม 2519 นายคำปันได้รับโอนที่ดินหมายอักษร ข. ทางมรดกของนางแว่น และในวันที่ 16 ธันวาคม 2519 นายคำปันได้ยกที่ดินดังกล่าวให้นายปั๋น และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2520นายปั๋นได้ขายที่ดินแปลงหมายอักษร ก. และ ข. ให้แก่นายดวงต๋าและนายบุญรัตน์ซึ่งได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 11 ปีเศษต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2531 และวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 นายดวงต๋าและนายบุญรัตน์โดยผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินแปลงหมายอักษร ก.และ ข. ให้แก่โจทก์ทั้งสองสำหรับที่ดินแปลงหมายอักษร ค. นั้นนายเรือนได้ครอบครองโดยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานาน 40 ปีเศษ และจำเลยทั้งสองรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตทั้งที่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้วจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหมายอักษร ค. การดำเนินการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินเป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์จำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดและปักหลักเขตตามแนวที่ดินซึ่งโจทก์จำเลยร่วมกันนำชี้ แต่โจทก์กลับไม่ยอมลงลายมือชื่อจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดโดยโต้แย้งเกี่ยวกับเนื้อที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดจึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทตามเนื้อที่และแนวเขตตามแผนที่ท้ายคำให้การหากโจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายปั๋น นายเรือนและนางแว่นครอบครองที่ดินพิพาทรวมกันโดยแบ่งแยกเป็น 3 ส่วนโจทก์ทั้งสองได้ปลูกข้าวในที่ดินราบลุ่ม แต่ที่ดินราบสูงนั้นจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นของตนและไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าปลูกจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินเองทั้งสิ้น โจทก์ทั้งสองโต้แย้งเพราะทราบว่าจะได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 4134 ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ตามเนื้อที่และแนวเขตตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.5 หากโจทก์ทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ส่วนฟ้องของโจทก์ทั้งสองให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่าข้อสันนิษฐานที่ว่า เจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน คู่ความไม่มีสิทธินำสืบให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้และการรับฟังพยานบุคคลที่นำสืบดังกล่าวมาหักล้างพยานเอกสาร สัญญาจำนองและสัญญาซื้อขายเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ที่ว่า เจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันนั้นไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธิที่จะนำสืบให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้และสามารถนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารเช่นว่านี้ได้ การนำสืบพยานดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share