แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยขอหยุดงานรวม 90 วันนั้น เหตุแห่งการลาป่วยเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะที่โจทก์ยื่นใบลา จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงอนุญาตให้โจทก์หยุดงานไปตามนั้น แต่ต่อมาเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถทำงานตามปกติ และโจทก์หยุดงานไปเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวอันเป็นการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเสร็จ ส่วนเหตุเลิกจ้างซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือสั่งให้โจทก์ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและอยู่ในระหว่างลาหยุดงานเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับข้อเท็จจริงในเหตุเลิกจ้างที่จำเลยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเท็จ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยเหตุของการเลิกจ้างทั้งสองประการดังกล่าวนี้ จึงมิได้ขัดแย้งกัน หลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและหยุดงานแล้ว ปรากฏว่า โจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รายงานตัวกลับเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่นั้นการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งดังกล่าวให้โจทก์ทราบและถือปฏิบัติแสดงว่าเหตุแห่งการลาป่วยที่จำเลยอนุญาตนั้นได้สิ้นไปแล้วและเป็นการยกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาหยุดงานไปในตัวจำเลยหาจำต้องระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่ายกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยไม่ เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน โจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทั้ง ๆ ที่จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหลายครั้ง เป็นการที่จำเลยจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงิน 10,210.50 บาทค่าชดเชยเป็นเงิน 40,842 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเอกสารท้ายคำให้การ เป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.2 (ฉบับเดียวกับหนังสือเลิกจ้างเอกสารท้ายคำให้การ) ประการแรกว่า ข้อความที่โจทก์ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารโลกสีเขียวถือไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทจำเลย ไม่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างจำเลยกับพนักงานหรือลูกค้า ประการที่ 2 การที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่จำเลยในช่วงระยะเวลาที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์หยุดงาน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดงานโดยละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และโจทก์ลาป่วยตามใบรับรองแพทย์จึงไม่ใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือแจ้งการลาป่วยเป็นเท็จ จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ประการที่ 3 แม้โจทก์มีส่วนร่วมในการแจกจ่ายเอกสารสิ่งพิมพ์หรือใบปลิวภายในบริเวณบริษัทและมีถ้อยคำบางตอนไม่สุภาพ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นจุลสารที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดทำขึ้น และก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ประการที่ 4ระหว่างที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาป่วย โจทก์ไม่ได้เจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิยกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและออกคำสั่งให้โจทก์กลับมารายงานตัวเพื่อทำงานได้ การที่โจทก์ฝ่าฝืนเป็นการขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จำต้องชดใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างซึ่งได้มีหนังสือตักเตือนแล้วและละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4)(5) จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับเหตุของการเลิกจ้างประการที่ 2 และประการที่ 4 ขัดแย้งกัน หากศาลแรงงานกลางวิเคราะห์เหตุเลิกจ้างประการที่ 2 เชื่อมโยงกับเหตุเลิกจ้างประการที่ 4ประกอบกันแล้ว คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางย่อมเปลี่ยนไปนั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยขอหยุดงานระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2539รวม 90 วันนั้น เหตุแห่งการลาป่วยเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะที่โจทก์ยื่นใบลา จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงอนุญาตให้โจทก์หยุดงานไปตามนั้น แต่ต่อมาปรากฏว่าโจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถทำงานตามปกติ และโจทก์หยุดงานไปเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว อันเป็นการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งจำเลยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเสร็จ อันเป็นเหตุเลิกจ้างประการที่ 2แต่เหตุเลิกจ้างประการที่ 4 ซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือสั่งให้โจทก์ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและอยู่ในระหว่างลาหยุดงานทั้งเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับข้อเท็จจริงในเหตุเลิกจ้างประการที่ 2 ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเหตุของการเลิกจ้างทั้งสองประการหาได้ขัดแย้งกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ไม่
ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือแจ้งให้โจทก์รายงานตัวกลับเข้าทำงานเอกสารหมาย ล.14 ถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือยกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยจึงต้องถือว่าจำเลยยังคงอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยอยู่นั้น เห็นว่า หลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและหยุดงานแล้ว ปรากฏว่าโจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รายงานตัวกลับเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เว้นจากการสัมผัสฝุ่นฝ้ายตามความเห็นในใบรับรองแพทย์ เอกสารหมาย ล.14การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบและถือปฏิบัติ แสดงว่าเหตุแห่งการลาป่วยที่จำเลยอนุญาตนั้นได้สิ้นไปแล้วและเป็นการยกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาหยุดงานไปในตัวจำเลยหาจำต้องระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่ายกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยไม่เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทั้ง ๆ ที่จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหลายครั้ง เป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิเรียกโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่ขณะที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยตามใบรับรองแพทย์ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและกฎหมายแรงงานนั้น เห็นว่าประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างดังกล่าวเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน