คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2479 มาตรา 45กำหนดว่าถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใด ๆ ก็ตามเจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน จึงเห็นได้ว่าความในมาตรา 45 มิได้หมายความถึง มีเงินค่าภาษีค้างชำระตามมาตรา 42 เพราะหากหมายความถึงมีเงินค่าภาษีค้างชำระก็คงไม่ต้องบัญญัติว่า “และยังมิได้ชำระ”ซ้ำลงไปเพียงแต่บัญญัติว่า ถ้าค่าภาษีค้างอยู่ก็ได้ความเพียงพอแล้วเพราะค้างอยู่ก็ย่อมหมายความถึงยังมิได้ชำระนั่นเองแต่การที่มาตรา 45 บัญญัติเช่นนี้ย่อมหมายความว่า หากเจ้าของคนเก่านั้นยังมีหนี้ค่าภาษีอยู่ขณะเมื่อมีการโอนทรัพย์สินนั้นไปยังเจ้าของคนใหม่ เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีร่วมกัน คดีนี้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีอยู่ตั้งแต่เมื่อได้รับแจ้งการประเมินจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว มิใช่เพิ่งมีหนี้เกิดขึ้นเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 38ล่วงพ้นไปแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเมื่อยังมิได้มีการชำระหนี้ค่าภาษีในขณะที่โอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดินไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในหนี้ค่าภาษีดังกล่าวรวมทั้งเงินเพิ่มด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 514,387.51 บาท ภายในกำหนดเวลา 90 วันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน ค่าภาษีดังกล่าวจึงเป็นค่าภาษีค้างชำระ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 43ซึ่งปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินค่าภาษีมาชำระจนเกิน3 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดจึงต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสิบแห่งค่าภาษีค้าง รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มจำนวน 565,826.26 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดินดังกล่าวซึ่งค้างชำระค่าภาษีพร้อมเงินเพิ่มในขณะที่มีการโอนกรรมสิทธิ์จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีค้างและเงินเพิ่มตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 565,826.26 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของใหม่ร่วมกับจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน565,826.26 บาท แก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้รับโอนโรงเรือนและที่ดินซึ่งมีหนี้ค่าภาษีค้างอยู่จะต้องร่วมรับผิดกับเจ้าของคนเก่าในหนี้ค่าภาษีค้างตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หรือไม่ปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 595 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินของบริษัทพิเนตรอินเทอไพร์สจำกัด ใช้ประกอบการค้าประเภทโรงภาพยนตร์ จำเลยที่ 1ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2524 ถึง 2531 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้แจ้งการประเมินเรียกเก็บให้จำเลยที่ 1 รับทราบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2531 ให้จำเลยที่ 1ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน คือต้องชำระภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2531ระหว่างนั้นเอง บริษัทพิเนตรอินเทอไพร์ส จำกัด ซึ่งได้รับโอนโรงเรือนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้โอนขายโรงเรือนและที่ดินอันเป็นทรัพย์ประเมินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1ค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 เจ้าของคนเก่ายังมิได้ชำระ จำเลยที่ 2เจ้าของคนใหม่ผู้รับโอนจะต้องร่วมรับผิดด้วยตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินเรียกเก็บหรือไม่นั้นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45บัญญัติว่า ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใด ๆ ก็ตามท่านว่าเจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกันปัญหานี้ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนมิต้องร่วมรับผิดก็โดยแปลกฎหมายว่า ค่าภาษีค้างตามมาตรา 45 นั้นหมายถึงเงินค่าภาษีค้างชำระตามมาตรา 42 ซึ่งจะเป็นเงินค่าภาษีชำระได้ก็ต่อเมื่อระยะเวลา 90 วัน ที่กำหนดไว้ให้จำเลยที่ 1ผู้รับประเมินชำระตามมาตรา 38 ก่อนแก้ไขนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วอีกนัยหนึ่งก็คือหากมีการโอนทรัพย์สินไปภายในระยะเวลาตามมาตรา 38 ก่อนแก้ไขแม้จะมีหนี้ค่าภาษีอยู่ก็จะถือว่าเป็นภาษีค้างตามมาตรา 45 มิได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรา 45 มิได้หมายความถึงมีเงินค่าภาษีค้างชำระตามมาตรา 42 เพราะหากหมายความถึงมีเงินค่าภาษีค้างชำระก็คงไม่ต้องบัญญัติคำว่า”และยังมิได้ชำระ” ซ้ำลงไป บัญญัติเพียงว่าถ้าค่าภาษีค้างอยู่ก็ได้ความเพียงพอแล้ว เพราะค้างอยู่ก็ย่อมหมายความถึงยังมิได้ชำระนั่นเอง แต่การที่มาตรา 45 บัญญัติเช่นนี้ย่อมหมายความว่า หากเจ้าของคนเก่านั้นยังมีหนี้ค่าภาษีอยู่ ขณะเมื่อมีการโอนทรัพย์สินนั้นไปยังเจ้าของคนใหม่ เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีอยู่ตั้งแต่เมื่อได้รับแจ้งการประเมินจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว มิใช่เพิ่งมีหนี้เกิดขึ้นเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 38 ล่วงพ้นไปแต่อย่างใดเพราะฉะนั้นเมื่อยังมิได้มีการชำระหนี้ค่าภาษีในขณะที่โอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดินไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าภาษีดังกล่าวรวมทั้งเงินเพิ่มดังโจทก์ฟ้องคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 565,826.26 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share