แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในระหว่างวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อยู่ในระยะเวลาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่มีขั้นตอนใดฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ 3 ปี 8 เดือนเศษ ซึ่งยังถือได้ว่าอยู่ในเวลาอันควรและอยู่ในระหว่างวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เมื่อได้กำหนดตามราคาปกติที่ซื้อขายกันในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แล้ว การกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 32,921,387.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 168862 ตำบลพระโขนง (บางจาก) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 งาน 67 ตารางวา พร้อมบ้านตึกชั้นเดียวและบ้านตึกสองชั้น บ่อเลี้ยงปลา พื้นลานคอนกรีต รั้วคอนกรีต และไม้ยืนต้น ซึ่งอยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนทั้งหมด คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 40,000 บาท เป็นเงิน 10,680,000 บาท เงินค่าทดแทนบ้านตึกชั้นเดียวเป็นเงิน 345,507.01 บาท บ้านตึกสองชั้นเป็นเงิน 2,887,641.52 บาท บ่อเลี้ยงปลา พื้นลานคอนกรีต รั้วคอนกรีตเป็นเงิน 329,274.92 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนไม่ได้ที่อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนเป็นเงิน 3,562,423.45 บาท โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนและรับเงินจากจำเลยไปแล้ว และได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์ถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนให้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยเพิ่งจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เมื่อปี 2537 ล่วงเลยมาเกือบ 4 ปี จึงต้องนำดัชนีราคาวัสดุที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ตกปีละ 16.32 เปอร์เซ็นต์ มาเป็นฐานคำนวณเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ด้วย นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้โต้แย้งการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ที่กำหนดโดยวิธีถอดแบบแล้วนำจำนวนวัสดุมาคำนวณเงินค่าทดแทน โดยใช้ราคาของกองระดับราคา กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นราคากลางของวัสดุก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2534 เป็นฐานในการคำนวณโดยพิจารณาถึงค่าแรงก่อสร้าง ค่าอำนวยการ ค่ากำไร ค่าภาษี ค่าออกแบบ ค่าคุมงาน ค่าวัสดุที่เสียหายจากการรื้อถอน ค่าเสื่อมราคาและค่าทดแทนอื่น ๆ แล้วกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ จึงเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่มีหลักเกณฑ์และเป็นราคาที่เป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างตามดัชนีราคาวัสดุที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเนื่องจากจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ล่าช้า นั้น เห็นว่า จำเลยได้กำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในระหว่างใช้บังคับ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว
พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อยู่ในระยะเวลาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนก็ไม่มีขั้นตอนใดฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเป็นวันภายหลังจากพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ 3 ปี 8 เดือนเศษ ซึ่งยังถือได้ว่าอยู่ในเวลาอันควรและอยู่ในบังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ดังนั้นเมื่อการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ได้กำหนดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ซึ่งให้กำหนดตามราคาปกติที่ซื้อขายกันในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ซึ่งในคดีนี้ได้แก่วันที่ 4 ตุลาคม 2533 การกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจนำเอาดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีหลังจากใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มาพิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้ดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.