คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตัวจำเลยหรือทนายจำเลยเพียงคนเดียวลงชื่อทราบวันนัดของศาล ก็ต้องถือว่าตัวจำเลยและทนายจำเลยอีกคนหนึ่งทราบวันนัดของศาลแล้ว การที่ ว. ทนายจำเลยลงชื่อทราบวันนัดของศาล จึงต้องถือว่า พ. ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งทราบวันนัดของศาลด้วยทุกครั้ง ที่จำเลยอ้างว่า ว. เจ็บป่วย พ. ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งก็สามารถที่จะดำเนินคดีแทนได้ ดังนั้น การที่ทนายจำเลยทั้งสองคนไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์จึงเป็นการจงใจขาดนัด และไม่มีเหตุสมควรที่จะให้พิจารณาคดีใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินฐานผิดสัญญาซื้อขายจำนวน ๔,๓๐๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓,๘๔๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ก่อนทำสัญญาซื้อขายโจทก์ได้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์พิพาทเป็นที่พอใจแล้ว จึงตกลงทำสัญญาซื้อขาย รถยนต์พิพาทมีประกันในการซ่อมบำรุงรักษามีกำหนด ๑ ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง และในระหว่างอายุการประกัน โจทก์ได้นำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจสภาพตามอายุการใช้งานหลายครั้งตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการใช้รถ การซ่อมดังกล่าวเป็นการซ่อมตามปกติและตามสภาพใช้งาน มิใช่ความบกพร่องอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาซื้อขายซึ่งจำเลยได้แก้ไขให้โจทก์แล้ว สำหรับรายการที่มีปัญหาคือ พวงมาลัยสะบัด เมื่อจำเลยได้ทำการตรวจสอบแล้วมีการสะบัดเพียงเล็กน้อยที่ความเร็วระดับหนึ่งและจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์ก็ยอมรับ โจทก์อ้างว่าพวงมาลัยสะบัดและนำรถยนต์พิพาทมาซ่อมและไม่ยอมมารับคืน จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับรถยนต์พิพาทคืนแต่โจทก์เพิกเฉยทำให้จำเลยมีภาระในการดูแลรักษา จำเลยจึงขอถือเอาคำให้การของจำเลยเป็นคำฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับมอบรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลย มิฉะนั้นให้นำรถยนต์พิพาทไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้รักษา โดยโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายในระหว่างที่รถยนต์พิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลยเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๖,๕๐๐ บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องเป็นฝ่ายรับรถยนต์พิพาทคืนและโจทก์ไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้จำเลย หากเสียหายก็ไม่เกิน ๒๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ ๒ ปาก โจทก์แถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยในส่วนฟ้องแย้งในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙
วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยไม่ได้จงใจไม่มาศาล ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและสั่งให้โจทก์นำพยานที่สืบไปแล้วมาศาลเพื่อให้จำเลยถามค้านและให้สืบพยานจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนัดสืบพยานจำเลยตามฟ้องแย้ง ครั้งถึงวันนัดศาลชั้นต้นเห็นว่าการที่ให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยในส่วนของฟ้องแย้ง เป็นการสั่งโดยผิดหลงจึงให้เพิกถอนคำสั่งนัดสืบพยานจำเลยในส่วนฟ้องแย้งและ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยในส่วนฟ้องแย้งออกจากสารบบความ แล้วนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓,๘๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน ๔๖๔,๐๐๐ บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ และอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่มีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ในข้อนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามทางไต่สวนขอพิจารณาคดีใหม่ นายวุฒิกรทนายจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ก่อนวันสืบพยานโจทก์ ๑ วัน พยานป่วยเป็นไข้หวัด แพทย์ให้พักผ่อน ๑ วัน พยานตั้งใจจะมาศาลในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จึงไม่ได้เตรียมการขอเลื่อนคดี แต่ในคืนวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พยานมีไข้ขึ้นสูงนอนไม่หลับ แต่ด้วยความอ่อนเพลียจึงได้หลับไปตื่นวันรุ่งขึ้นเวลา ๑๒ นาฬิกา จึงรีบมาศาล แต่ศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้ว พยานไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า นายวุฒิกรทนายจำเลยเจ็บป่วยไม่สามารถมาศาลได้ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยมีทนายความแก้ต่างถึงสองคนคือนายวุฒิกรกับนายพิเชฐกุล การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความถึงสองคนแสดงว่าจำเลยต้องการให้ทนายความทั้งสองช่วยเหลือกันในเชิงคดี เมื่อทนายความคนหนึ่งเกิดเจ็บป่วยก็ดี หรือติดธุระไม่สามารถมาว่าความที่ศาลได้ก็ดี ทนายความอีกคนหนึ่งก็พร้อมที่จะว่าความแทนได้ เว้นแต่ทนายความคนที่สองจะเกิดเจ็บป่วยหรือติดธุระจำเป็นไม่สามารถมาศาลได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายพิเชฐกุลทนายจำเลยอีกคนหนึ่งเจ็บป่วยหรือมีความจำเป็นไม่สามารถมาศาลได้ในวันนัด หากเป็นเช่นนั้นจริงนายพิเชฐกุลก็ต้องยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลในวันนัดเช่นกัน แต่นายพิเชฐกุลก็หาทำเช่นนั้นไม่ ที่จำเลยอ้างว่า นายพิเชฐกุลได้เคยลงชื่อทราบวันนัด (ที่ถูกน่าจะเป็นว่า ไม่เคยลงชื่อทราบวันนัด) ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลทุกครั้ง และไม่เคยมาทำหน้าที่ทนายความของจำเลยในคดีนี้ นายพิเชฐกุลจึงไม่อาจทราบวันนัดในคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า แม้ตัวโจทก์หรือทนายโจทก์เพียงคนเดียวลงชื่อทราบวันนัดของศาล ก็ต้องถือว่าตัวโจทก์และทนายโจทก์อีกคนหนึ่งทราบวันนัดของศาลแล้ว การที่นายวุฒิกรทนายจำเลยลงชื่อทราบวันนัดของศาล กรณีต้องถือว่านายพิเชฐกุลทราบวันนัดของศาลด้วยทุกครั้ง ที่จำเลยอ้างว่า นายพิเชฐกุลไม่เคยลงชื่อทราบวันนัดจึงไม่อาจทราบวันนัดของศาลได้ จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังเช่นนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าถ้านายวุฒิกรเจ็บป่วย นายพิเชฐกุลทนายความอีกคนหนึ่งก็สามารถที่จะดำเนินคดีแทนได้ การที่ทนายจำเลยไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์เป็นการจงใจขาดนัด และไม่มีเหตุสมควรที่จะพิจารณาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share