คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2935/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1(เฮโรอีน)และประเภท 5(กัญชา) ไว้ในครอบครอง (ตามมาตรา 67 และ 76)เป็นความผิดคนละบทมาตรากับความผิดฐานเสพยาเสพติดดังกล่าว (ตามมาตรา 91 และ 92) อีกทั้งเจตนาของการกระทำก็คนละอย่าง ต่างหากจากกันโดยมีไว้ในครอบครองตอนหนึ่งและการเสพอีก ตอนหนึ่งย่อมเป็นความผิดต่างกระทงอย่างชัดแจ้ง ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ มิได้กล่าวเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 92(พ.ศ. 2538) คงอ้างถึงแต่เฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51(พ.ศ. 2531)กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนของจำเลยจำนวน0.08 กรัม โดยไม่ได้กล่าวถึงการคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินปริมาณ 0.500 กรัม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ด้วย ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งโจทก์ ก็มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวแต่อย่างใดกรณีจึงไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยเพื่อใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณจำเลยคงมีความผิดเฉพาะตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง จำเลยได้กระทำความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮโรอีนและกัญชาอันเป็นยาเสพติดชนิดร้ายแรง กับวัตถุออกฤทธิ์ กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุก ให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 57, 76, 91, 92, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62, 62 ตรี,106, 106 ตรี ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง),26 (ที่ถูกมาตรา 26 วรรคหนึ่ง), 57, 67, 76 (ที่ถูกมาตรา 76 วรรคหนึ่ง), 91, 92 (ที่ถูกมาตรา 92 วรรคหนึ่ง), 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 (ที่ถูกมาตรา 62 วรรคหนึ่ง), 62 ตรี, 106 (ที่ถูกมาตรา 106 วรรคหนึ่ง),106 ตรี การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ ฐานเสพเฮโรอีน จำคุก 6 เดือนฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานเสพกัญชาจำคุก 2 เดือน ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือนฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปีรวมจำคุก 4 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 1 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยจากรายงานสืบเสาะแล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษ ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยยกขึ้นฎีกาประการแรกว่า ความผิดฐานเสพเฮโรอีนและการมีเฮโรอีนส่วนที่เหลือไว้ในครอบครองซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.08 กรัม กับการเสพกัญชา และมีกัญชาส่วนที่เหลือไว้ในครอบครอง น้ำหนัก 34.90 กรัม ในแต่ละฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) และประเภท 5(กัญชา) ไว้ในครอบครอง (ตามมาตรา 67 และ 76) เป็นความผิดคนละบทมาตรากับความผิดฐานเสพยาเสพติดดังกล่าว (ตามมาตรา 91 และ 92) อีกทั้งเจตนาของการกระทำก็คนละอย่างต่างหากจากกันโดยมีไว้ในครอบครองตอนหนึ่งและการเสพอีกตอนหนึ่ง ดังนั้นย่อมเป็นความผิดต่างกระทงอย่างชัดแจ้ง ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ควรต้องใช้กฎหมายในส่วนในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92(พ.ศ. 2538) หรือไม่ ข้อนี้ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) คงอ้างถึงแต่เฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531) กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนของจำเลยจำนวน 0.08 กรัม โดยไม่ได้กล่าวถึงการคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินปริมาณ 0.500 กรัม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ด้วย ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ทวิ ซึ่งโจทก์ก็มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยเพื่อใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณดังที่จำเลยฎีกา จำเลยคงมีความผิดเฉพาะตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษดังกล่าวทั้งสองชนิดซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดร้ายแรงกับวัตถุออกฤทธิ์ฉะนั้นโดยพฤติการณ์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมาเพียงแค่นั้นนับเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้วกรณีไม่มีเหตุอันควรแก้ไขโทษเป็นอย่างอื่นหรือรอการลงโทษจำคุกจำเลยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share