คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2930/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ยังไม่ได้ประกาศใช้ และไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเล ศาลจึงจำต้องวินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยเทียบบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 616 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 คดีนี้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนตกลงรับขนว่าโจทก์ประสงค์จะให้ขนส่งสินค้าของโจทก์โดยเร็ว จึงมีการเปลี่ยนจากเรือ อ.เป็นเรือ ป. แต่ปรากฏว่าเรือ ป.แล่นออกจากประเทศไทยล่าช้าถึง 1 สัปดาห์ จึงทำให้เรือแล่นไปถึงท่าเรือปลายทางต้องล่าช้าไปด้วย ดังนี้ การส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับสินค้าปลายทางล่าช้าเป็นเพราะจำเลยเริ่มทำการขนส่งสินค้าล่าช้าเอง มิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ความเสียหายมิได้เกิดจากตัวสินค้าข้าวโพด หากแต่เกิดจากราคาสินค้าข้าวโพดในตลาดไต้หวันตกต่ำลงในขณะที่มีการส่งมอบชักช้า ผู้ซื้อที่ไต้หวันจึงอาจเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การส่งมอบสินค้าข้าวโพดชักช้าผิดเวลานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้นแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่ธนาคารในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยส่งมอบสินค้าชักช้า และมิใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าขณะโจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนสินค้า และขณะที่จำเลยส่งมอบสินค้าดังกล่าวชักช้า จำเลยได้ทราบอยู่แล้วว่าหากธนาคารในไต้หวันยังไม่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ธนาคารในประเทศไทย โจทก์จำเป็นต้องขอเบิกเงินค่าสินค้าจากธนาคารในประเทศไทยไปก่อนโดยโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารดังกล่าวด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์

Share