คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตกลงยอมความกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกันเองโดยศาลมิได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น หากต่อมาปรากฏว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1596 ได้
ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลจะสั่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1596 นั้น ต้องเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จะพึงต้องชำระในอนาคต จะสั่งย้อนไปเกี่ยวกับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ค้างชำระอยู่ก่อนแล้วหาได้ไม่
การที่บุคคลจะไม่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1595 นั้น มุ่งหมายสำหรับงวดกาลข้างหน้าเท่านั้น ส่วนการอุปการะเลี้ยงดูที่ค้างเกี่ยวอยู่ในครั้งอดีตนั้น ยังคงตกเป็นภาระในอันที่จะต้องรับผิดต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยสมรสกันตามกฎหมายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ เกิดบุตร ๑ คน คือ เด็กหญิงสุวารี อายุ ๖ ขวบ อยู่ในความปกครองของโจทก์ เมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๘ โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันตามที่อำเภอเปรียบเทียบ โดยจำเลยยอมใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ ๑๘๐ บาท จำเลยได้จ่ายค่าอุปการะเต็มจำนวนอยู่ ๓ เดือน ต่อมาก็ชำระไม่ครบบ้าง ไม่ชำระบ้าง คงค้างถึงเดือนเมษายน ๒๕๐๔ รวมเป็นเงิน ๔,๖๖๐ บาท จึงขอให้จำเลยชำระ กับให้จ่ายค่าเลี้ยงดูต่อไป แต่วันฟ้องเดือนละ ๑๘๐ บาทตามยอม จนกว่าเด็กหญิงสุวารีจะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การว่าได้จ่ายให้โจทก์รับไปไม่มีติดค้าง หากจะค้างก็ไม่เกิน ๓,๕๐๐ บาท ขณะนี้จำเลยมีฐานะยากจน ไม่มีทรัพย์พอจะอุปการะโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่เดือดร้อน ที่จำเลยตกลงให้ค่าอุปการะแก่โจทก์ เพราะขณะนั้นจำเลยยังไม่มีบุตรภริยา บัดนี้ ฐานะจำเลยเปลี่ยนแปลงไปมีภาระเพิ่มขึ้น โดยมีภริยาใหม่ และบุตร ๑ คน ทั้งต้องเลี้ยงดูมารดาผู้ชราและให้การศึกษาน้อง จึงขอให้ค่าเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เพียงเดือนละ ๕๐ บาท
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยค้างจ่ายค่าอุปการะบุตรแก่โจทก์ ๓,๕๐๐ บาท แต่เนื่องจากจำเลยมีเงินเดือนสุทธิเดือนละ ๕๖๐ บาท และมีบุตรภริยาใหม่ ทั้งโจทก์มีสามีใหม่พอจะเลี้ยงดูบุตรได้อยู่ ควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเดือนละ ๗๕ บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะค้าง ๓,๕๐๐ บาท กับค่าอุปการะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๐๔ เป็นรายเดือน เดือนละ ๗๕ บาท
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้ค้างชำระ หากจะค้างจำเลยก็มีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะชำระให้ได้ โดยไม่เป็นภัยแก่ตนเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับเอาจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๕
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยค้างชำระเงิน ๓,๕๐๐ บาทจริง แต่ฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจนเห็นได้ว่าจำเลยไม่สามารถที่จะให้ค่าอุปการะบุตรที่ค้างแก่โจทก์โดยไม่เป็นภัยแก่ตนเองตามสมควรแก่ฐานะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๕, ๑๕๙๖ ได้จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าอุปการะที่ค้าง ๓,๕๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า เงิน ๓,๕๐๐ บาท เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยสัญญาก่อนที่ศาลจะสั่งลดค่าอุปการะเลี้ยงดู ทั้งจำเลยก็สามารถจะชำระหนี้จำนวนนี้ได้ จึงขอให้จำเลยชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้ว ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้มากน้อยและตามระยะเวลาอย่างไรเป็นราย ๆ ไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๔, ๑๕๙๗ หากพฤติการณ์ รายได้ ฐานะ เปลี่ยนแปลงไป ศาลก็ย่อมสั่งเพิกถอน ลด เพิ่ม กลับให้อุปการะอีกก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๖ ทั้งนี้ จึงส่อว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูที่กำหนดไว้แล้วนั้น จะต้องอยู่เรื่อยไปจนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียร้องขอขึ้นมา สำหรับคดีนี้ แม้ในชั้นต้นคู่กรณีจะตกลงกำหนดค่าอุปการะในการยอมความกันเองโดยศาลมิได้เกี่ยวข้องก็ดี ก็นับว่าเป็นข้อตกลงอันมีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าจำเลยเห็นว่าค่าเลี้ยงดูที่เต็มใจให้ไว้เดิมนั้น ต่อมาฐานะจำเลยค่นแค้นลง ก็ชอบที่จะขอลดหย่อนลงได้โดยการร้องขอต่อศาล ขอให้กำหนดค่าอุปการะเสียใหม่ให้น้อยลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นหนี้ที่ค้างชำระ สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าเป็นหนี้ตามสัญญายอมที่จำเลยทำให้ไว้ในการหย่าขาดกับโจทก์ ซึ่งถ้าจำเลยปฏิบัติชำระหนี้นี้รายเดือนตามที่ตกลงไว้ โจทก์ก็ย่อมได้รับไปครบถ้วนแล้ว
หนี้จำนวนนี้จึงเป็นหนี้ค้างชำระตามข้อสัญญา ไม่ใช่หนี้ที่จะพึงชำระในอนาคต จเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอเพิกถอนหรือขอลดลงได้ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๕ นั้น ก็มุ่งหมายว่าบุคคลที่มีหน้าที่ต้องอุปการะผู้อื่นนั้น ถ้าเกิดหมดความสามารถที่จะอุปการะ ก็จะเลิกการให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับงวดกาลข้างหน้านั้นเสียได้ แต่หนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ค้างเกี่ยวอยู่ในครั้งอดีตกาลนั้น ยังคงตกเป็นภาระของผู้เป็นลูกหนี้ในอันที่จะต้องรับผิดต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง เพราะพฤติการณ์อันจำเป็นเกิดขึ้นภายหลัง
พิพากษากลับ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share