คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2404/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหาย ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าแทนที่โจทก์ ดังนี้ เป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นเดียวกับโจทก์เดิม ส่วนโจทก์มีสิทธิและหน้าที่อยู่อย่างไรก็คงมีอยู่เช่นนั้น และต้องผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการไปรษณีย์ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรับขนส่งไปรษณียภัณฑ์ ของผู้ฝากส่งไปทั้งในและนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.
การฝากส่งสินค้าของโจทก์เป็นการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์รับประกันเมื่อไปรษณียภัณฑ์สูญหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 29 ไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 141
จำเลยที่ 2 มิได้รับขนส่งให้โจทก์และมิใช่การขนส่งหลายทอดแต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องขนส่งให้จำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 48 ตามที่จำเลยที่1 กำหนดให้ส่ง ทั้งไม่ได้รับแจ้งถึงสภาพและราคาของไปรษณียภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในถุงไปรษณีย์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้และไม่ปรากฏว่าสินค้าของโจทก์สูญหายไปจากที่แห่งใด ถุงไปรษณียภัณฑ์ที่จำเลยที่ 2 รับไป จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งไปถึงปลายทางในสภาพเรียบร้อยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการขนจนเป็นเหตุให้ของหาย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ส่งพลอยสีน้ำเงินเจียระไนและทับทิมเจียระไนไปให้ลูกค้าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยทางไปรษณีย์ของจำเลยที่ ๑ เสียค่าธรรมเนียมส่งเป็นไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศลงทะเบียนรับประกันภัย จำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง ต่อมาปรากฏว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นสูญหาย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน ๘๖๓,๙๔๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด โจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนรับประกันแก่จำเลยที่ ๑ ในประเภทจดหมายรับประกันเป็นเงิน ๓,๙๕๐ บาท โจทก์จะได้บรรจุสินค้าราคาตามฟ้องในไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนรับประกันหรือไม่ จำเลยที่ ๑ ไม่ทราบและไม่รับรอง จำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบให้จำเลยที่ ๒ ตามระเบียบแล้ว แต่ได้เกิดสูญหายไประหว่างอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๒ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย หากจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดก็ไม่เกินจำนวนเงินที่โจทก์ขอรับประกันไว้เป็นเงิน ๓,๙๕๐ บาท และคืนค่าธรรมเนียมอีก ๑๒๘ บาท รวมเป็นเงิน ๔,๐๗๘ บาทจำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ ๑ ชอบที่โจทก์จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๒ โดยตรง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่าจำเลยที่ ๒ ได้ส่งมอบเที่ยวไปรษณีย์ให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางโดยเรียบร้อยตามสภาพที่ได้รับจากจำเลยที่ ๑ หากโจทก์ส่งสินค้าของโจทก์ไปต่างประเทศทางไปรษณีย์ตามฟ้องจริงจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ต้องรับผิด ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมายและกฎข้อบังคับแห่งอนุสัญญาสากลไปรษณีย์จำกัดจำนวนไม่เกิน ๓,๙๕๐ บาท จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำเลยที่ ๑ กรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังลูกค้าแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอนุญาตให้บริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด ร้องสอดเข้ามาแทนที่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายรวม ๔,๐๙๘ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องสอด คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ยก
โจทก์และผู้ร้องสอด อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์มีสิทธิฎีกาหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าแทนที่โจทก์นั้นเป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นเดียวกับโจทก์เดิม ส่วนโจทก์มีสิทธิและหน้าที่อยู่อย่างไรก็คงมีอยู่เช่นนั้น และต้องผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการโจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และผู้ร้องสอดมีว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โจทก์และผู้ร้องสอดฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้สิ่งของที่โจทก์สูญหายตามราคาที่ได้แจ้งไว้ที่ไปรษณียภัณฑ์ เป็นเงิน ๔๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ๘๖๓,๙๔๐ บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลดำเนินการไปรษณีย์ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรับขนส่งไปรษณียภัณฑ์ของผู้ฝากส่งไปทั้งในและนอกราชอาณาจักร โจทก์ได้จัดส่งสินค้าไปทางไปรษณีย์อันเป็นกิจการและธุรกิจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีวิธีการในการฝากส่งตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงมิใช่ผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๙ บัญญัติให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ซึ่งมีพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ และพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ บัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไว้เกี่ยวกับการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ จำเลยที่ ๑ ได้มีข้อบังคับออกใช้เรียกว่าไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ข้อ ๑๓๑ ระบุว่า ไปรษณียภัณฑ์แบ่งออกเป็น ๕ ชนิด คือ จดหมายไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ พัสดุย่อย เครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุข้อ ๑๔๑ ระบุว่า จดหมายรับประกัน คือจดหมายต่างประเทศที่ทางการให้ความคุ้มครองรักษาเป็นพิเศษหากของที่รับประกันสูญหายหรือเสียหายไปทั้งหมดหรือบางส่วนในระหว่างส่งทางไปรษณีย์เพราะความผิดของทางการ ทางการยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ตามราคาที่เป็นจริงของจดหมายรับประกันที่สูญหายหรือเสียหาย แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ขอรับประกันไว้ ข้อ ๑๔๓ ระบุว่า ไปรษณียภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ไม่อนุญาตให้รับประกัน ข้อ ๑๔๗ ห้ามขอรับประกันเกินกว่าราคาแท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่ แต่จะขอรับประกันน้อยกว่าราคาแท้จริงก็ได้และข้อ ๑๔๖ ระบุว่าจำนวนเงินที่จะขอให้รับประกันอย่างสูงไม่เกิน ๓,๙๕๐ บาท หรือ ๕๐๐ แฟรงค์ทองต่อจดหมาย ๑ ฉบับ ข้อบังคับตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ จะเห็นว่าสิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณียภัณฑ์รับประกันมีเฉพาะจดหมายรับประกันเท่านั้น จดหมายที่ขอให้รับประกันจะจดแจ้งราคาหรือไม่ก็ได้ การขอให้รับประกันจะเกินกว่าราคาที่แท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่ไม่ได้ สิ่งของที่บรรจุอยู่หากมีราคามากกว่า ๓,๙๐๐ บาท ขอให้รับประกันได้ไม่เกิน ๓,๙๕๐ บาท ข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ โจทก์รู้ดีอยู่แล้วตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของนายสิมา เศรษสุทธิ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานส่งของของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ รับประกันความเสียหายไว้สูงสุดเป็นเงิน ๓,๙๕๐ บาท เนื่องจากจำเลยที่ ๑ รับประกันความเสียหายไว้เป็นจำนวนดังกล่าว โจทก์จึงเอาสินค้าไปประกันกับบริษัทไพบูลย์ประกันภัยจำกัด (ผู้ร้องสอด) อีกทอดหนึ่ง โดยประกันเต็มราคาสินค้าอันเป็นการยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ ๑ จำกัดความรับผิดที่จะต้องชดใช้เมื่อสิ่งของที่ฝากส่งโดยจดหมายรับประกันสูญหายเท่าที่รับประกันตามข้อบังคับเท่านั้น มิใช่ราคาตามที่ระบุไว้ตาม มาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ บัญญัติว่ากรม (จำเลยที่ ๑) จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์ประกัน แตกหัก สูญหาย ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ตามข้อบังคับที่ใช้อยู่เวลานั้น ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ในการใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช๒๕๒๐ ข้อ ๑๔๑ ส่วนมาตรา ๓๐ เป็นบทบัญญัติให้สันนิษฐานว่า ไปรษณียภัณฑ์มีราคาตามที่ระบุแจ้งราคาไว้ในกรณีที่ต้องใช้ราคาของไปรษณียภัณฑ์ที่แตกหักสูญหาย อันมิใช่ไปรษณียภัณฑ์รับประกัน กรณีของโจทก์โจทก์ได้ฝากส่งประเภทไปรษณียภัณฑ์รับประกันโดยแจ้งขอประกันไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์ที่ส่งเป็นจำนวนเงิน ๓,๙๕๐ บาท และเสียค่าธรรมเนียมในการฝากส่ง รวมค่าธรรมเนียมเป็นเงิน ๑๔๘ บาท เมื่อรวมกับเงินที่โจทก์ขอประกันกับจำเลยที่ ๑ แล้วเป็นเงิน ๔,๐๙๘ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๖ การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ ประกันไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์เป็นเงิน ๓,๙๕๐ บาท เมื่อไปรษณียภัณฑ์ที่โจทก์ส่งสูญหายไป จำเลยที่ ๑ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามที่กำหนดไว้ในไปรษณียนิเทศ ตามที่ได้รับประกันไว้จากโจทก์รวมค่าธรรมเนียมเป็นเงิน ๔,๐๙๘ บาท
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ มิได้รับขนส่งให้โจทก์ และกรณีมิใช่การขนส่งหลายทอด หากแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ต้องขนส่งให้จำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๔๘ ตามที่จำเลยที่ ๑ กำหนดให้ส่งทั้งไม่ได้รับแจ้งถึงสภาพและราคาของไปรษณียภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในถุงไปรษณีย์ที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบให้ และไม่ปรากฏว่าสินค้าของโจทก์สูญหายไปจากที่แห่งใด ถุงไปรษณียภัณฑ์ที่จำเลยที่ ๒ รับไป จำเลยที่ ๒ ได้ขนส่งไปถึงปลายทางในสภาพเรียบร้อยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการขนจนเป็นเหตุให้ของหาย จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share