คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2928/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยก่อนจำเลยเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วพนักงานของจำเลยได้เปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 โจทก์มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 9 (2) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุตามกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์นั้นเป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างจะนำมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกับการเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุไม่ได้เมื่อโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติโดยครบเกษียณอายุจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

ย่อยาว

่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อครบเกษียณอายุ จำเลยต่ออายุการทำงานให้โจทก์เรื่อยมา จนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำเลยต่ออายุการทำงานให้โจทก์ ๑ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๘ ต่อมาวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปโดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจ้าง ๒๘๑,๔๐๐ บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๓๐๐,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๓,๖๕๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมจำเลยเป็นบริษัทจำกัดของเอกชน ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๗ กระทรวงการคลังได้เข้าถือหุ้นของบริษัทจำเลยร้อยละ ๕๑ จำเลยจึงเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙, ๑๑ กำหนดว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์ โจทก์มีอายุ ๖๖ ปี จึงขาดคุณสมบัติจำเลยจึงต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ไปแล้ว ๒๔๑,๓๗๗.๕๐ บาท โจทก์จึงไม่เสียหาย โจทก์เรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรมซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอายุ ๖๖ ปีจึงขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๒๓,๖๕๐ บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยก่อนจำเลยเปลี่ยนฐานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีระเบียบงานบุคคลใช้บังคับ เมื่อจำเลยต่ออายุการทำงานให้โจทก์ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยเปลี่ยนสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจภายหลังที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว จึงไม่เป็นธรรมต่อไป ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเหตุตามกฎหมายที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ เห็นว่ากระทรวงการคลังเข้าถือหุ้นในบริษัทจำเลยเป็นจำนวนร้อยละ ๕๑ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๗ ดังนั้นบริษัทจำเลยจึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายพนักงานของจำเลยจึงเปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ โจทก์ซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์แล้วจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ (๒) และต้องถูกบังคับตามมาตรา ๑๑ ให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่อาจกล่าวอ้างถึงการที่จำเลยขณะที่ยังไม่เป็นรัฐวิสาหกิจได้ต่ออายุการทำงานนั้นมาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไปอีกได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ฯลฯ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุตามกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ เป็นบทบัญญัติเรื่องการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙ (๒) นั้น เป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง กรณีเช่นนี้จะนำมาตรา ๕๘๒ ดังกล่าวมาใช้บังคับกับการเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุมิได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติโดยครบเกษียณอายุ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ฯ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอที่ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share