คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อบังคับของบริษัทจำเลยให้จ่ายเงินบำเหน็จหรือค่าชดเชยอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีจำนวนสูงกว่าอีกอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างอีกด้วย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินบำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปแล้ว คือค่าชดเชยโจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยอีก พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีข้อบังคับให้จ่ายเงินบำเหน็จหรือค่าชดเชยอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีจำนวนสูงกว่าให้ลูกจ้างที่ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จำเลยให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำออกจากงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524 เพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 217,642 บาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย อันมีจำนวนเพียง29,940 บาท จำเลยจึงจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามข้อบังคับ มีปัญหาว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีกหรือไม่

พิาเคราะห์แล้ว การที่มีข้อบังคับกำหนดให้จ่ายเงินบำเหน็จหรือค่าชดเชยอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีจำนวนสูงกว่าอีกอย่างหนึ่งเพียงเดียวนั้น เห็นว่า ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้คดีนี้ คือเงินบำเหน็จสูงกว่าค่าชดเชยจำเลยย่อมไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่ค่าชดเชยนั้นเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะไม่จ่ายหาได้ไม่ดังนั้นข้อบังคับดังกล่าวจึงขัดกับประกาศที่กล่าวข้างต้น ไม่มีผลบังคับในกรณีเช่นนี้ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ คำพิพากษาฎีกาที่ 1442/2519 ระหว่างบริษัทไซมิสทินซินติเกต โจทก์ นายสุภร ทับเที่ยง กับพวก จำเลย ที่ศาลแรงงานกลางอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 28,940 บาท

Share