แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนอันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะใช้อำนาจสืบพยานเองโดยพลการ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 228 ให้อำนาจไว้ ทั้งศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ และพิพากษาคดีไปตามนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ของผู้ร้องที่ขอให้หมายเรียกพยานอันดับที่ 3 และอันดับที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้องเพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมะยาเต็ง ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างประจำสังกัดโรงเรียนบ้านบางลาง ทำหน้าที่เป็นนักการภารโรง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ทหารพรานสังกัดทหารพรานที่ 41 (ฉก.41) ฐานปฏิบัติการย่อยโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร อำเภอบังนังสตา จังหวัดยะลา เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ร้องและควบคุมตัวนายมะยาเต็งไปโดยไม่ได้แจ้งข้อหาพร้อมยึดรถกระบะยี่ห้อมาสด้า หมายเลขทะเบียน บจ 4769 ยะลา อาวุธปืนสั้นออโตเมติกใบอนุญาตเลขที่ 149/2539 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำตัวนายมะยาเต็งไปสอบสวนที่ฐานปฏิบัติการย่อยโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร หลังเกิดเหตุผู้ร้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่านายมะยาเต็งไม่อยู่ วันที่ 2 กรกฎคม 2550 ผู้ร้องไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาว่า การควบคุมตัวนายมะยาเต็งและการยึดทรัพย์ดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จนถึงปัจจุบันนายมะยาเต็งยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คุมขังนายมะยาเต็งปล่อยตัวนายมะยาเต็ง และคืนทรัพย์ที่ยึดไปทั้งหมดหรือชดใช้ราคา กับให้ใช้ค่าชดเชยและค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้เดือนละ 20,000 บาท จนกว่านายมะยาเต็งเกษียณอายุ ค่าเช่ารถยนต์ 32,750 บาท ให้ใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์ครูยะละซึ่งผู้ร้องไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะนายมะยาเต็งถูกคุมขังโดยมิชอบกับค่าใช้จ่ายในการติดตามนายมะยาเต็ง 30,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ระหว่างไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานบุคคลตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 อันดับที่ 3, 5, 6 และ 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกนายบัญญัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมาไต่สวนในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำสั่ง หลังจากไต่สวนแล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2551
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 รวม 3 ฉบับ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเรื่องที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายบัญญัติมาไต่สวนโดยไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบก่อนเพื่อให้ทนายความผู้ร้องถามค้าน คำร้องขอให้หมายเรียกพยานอันดับที่ 3 และอันดับที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้อง กับคำร้องขอให้หมายเรียกนายบัญญัติมาไต่สวนใหม่เพื่อให้ผู้ร้องได้ถามค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามฉบับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ของผู้ร้องที่ขอให้หมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารมาไต่สวนเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 40 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้ (2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง และการที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายบัญญัติ มาไต่สวน เมื่อผู้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกพยานบุคคลที่เคยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมไว้ ศาลชั้นต้นกลับยกคำร้อง และรับฟังข้อเท็จจริงว่าคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเจือสมกับนายบัญญัติจึงเป็นการที่ผู้ร้องไม่ได้รับความคุ้มครองโดยเสมอภาคกับเจ้าหน้าที่ความมั่งคงของรัฐ อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ได้ความว่า ผู้ร้องยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 วันเดียวกันผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกพยานบุคคล 4 อันดับ ซึ่งรวมถึงพยานอันดับที่ 3 ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางลาง และอันดับที่ 6 พนักงานสอบสวนคดีเผาโรงเรียนบ้านบางลาง ตามบัญชีพยานดังกล่าวอยู่ด้วยศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏว่าพยานบุคคลที่ผู้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี และพยานเกี่ยวข้องกับการควบคุมนายมะยาเต็งอย่างไร จึงไม่มีเหตุให้ออกหมายเรียก ยกคำร้อง โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้อง 2 ปาก และไต่สวนพยานที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกอีก 2 ปาก ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ในวันดังกล่าวทนายผู้ร้องแถลงว่าติดใจนำพยานเข้าไต่สวนเพียงเท่านี้และขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 15 วัน ศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 จึงเห็นได้ว่าผู้ร้องไม่ติดใจที่จะให้ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานอันดับที่ 3 และอันดับที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 อีกต่อไป และเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับพยานตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้อง โดยรับรองสิทธิพื้นฐานของผู้ร้องตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (2) โดยครบถ้วนแล้ว ส่วนเรื่องที่ในนัดต่อมาซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่งศาลชั้นต้นไต่สวนนายบัญญัติ ก็ได้ความว่าศาลชั้นต้นหมายเรียกนายบัญญัติมาไต่สวนเนื่องจากเห็นว่าในรายงานสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่ร้อยโทสุรพล นำไปยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 ปรากฏว่านายบัญญัติอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่นายมะยาเต็งไปให้ข้อมูลข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ทหารที่ฐานปฏิบัติการย่อยโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร โดยศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานต่อหน้าผู้ร้อง แม้วันดังกล่าวผู้ร้องไม่มีทนายความ แต่ก็หามีเหตุอย่างใดที่จะถือได้ว่าการกระทำของศาลชั้นต้นเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ร้องไม่ เพราะเป็นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนอันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะใช้อำนาจสืบพยานเองโดยพลการ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228 ให้อำนาจไว้ ทั้งศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ และพิพากษาคดีไปตามนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ของผู้ร้องที่ขอให้หมายเรียกพยานอันดับที่ 3 และอันดับที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้องเพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีจึงชอบแล้ว อนึ่ง เห็นควรกล่าวไว้ด้วยว่า คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนผู้ร้องเสร็จแล้ว ทนายผู้ร้องแถลงหมดพยาน แม้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามคำเบิกความของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องไม่ทราบว่านายมะยาเต็งถูกผู้ใดคุมขังอยู่ที่ไหน ทำให้คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลมาตั้งแต่ต้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้หมายเรียกเจ้าหน้าที่ทหารและพยานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนให้ได้ความว่านายมะยาเต็งถูกคุมขังอยู่หรือไม่ โดยมิได้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียทันที หลังจากนั้นยังอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นบัญชีระบุเพิ่มเติมและนำพยานเข้าไต่สวนได้อีกทั้งที่ได้แถลงหมดพยานแล้ว เห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมุ่งให้ความคุ้มครองผู้ร้องภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเต็มที่หามีที่ใดแสดงให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมุ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งกว่าราษฎรไม่ที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายบัญญัติมาไต่สวนและยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้หมายเรียกพยานบุคคลมาไต่สวนหลังจากนั้นจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน