แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบจะเป็นการถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์จำเลยได้สืบพยานเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้ว และไม่มีผลทำให้การวินิจฉัยคำพยานเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องแก้ไขเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๘๔๘๕ ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ ๗๐ ไร่ ๓ งาน ๘๐ วา ร่วมกับจำเลย นางสำรวย นางเพียน และนายวัง โดยถือกรรมสิทธิ์ตามที่จดทะเบียนบรรยายส่วนคือของจำเลย ๔๖ ส่วน นางเพียน ๑๐ ส่วน นายวัง ๑๔ ส่วน ส่วนของจำเลยได้เติมชื่อนายห้อยและนางสำรวยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ นายห้อยขายเฉพาะส่วนของตนให้กับโจทก์โดยจดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๑๖ โจทก์ขอให้จำเลย นางสำรวย นางเพียนและนายวังทำการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นส่วนสัดในการทำประโยชน์ จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเลขที่ ๘๔๘๕ เฉพาะส่วนของโจทก์เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑ งานเศษ
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดพิพาทจำเลยกับพวกมีชื่อในโฉนดด้วยการจดทะเบียนทางรับมรดกและให้เติมชื่อจำเลยกับพวกครอบครองเป็นส่วนสัดปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การ โดยจำเลยกับพวกต่างแยกการครอบครองเป็นเจ้าของในส่วนของตนโดยความสงบเปิดเผยเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์รู้ถึงการครอบครองของจำเลยกับพวกและรับจำนองที่ดินส่วนของนายห้อยเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๐ ต่อมาโจทก์รับโอนที่ดินของนายห้อยเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๕ เป็นการชำระหนี้จำนอง โจทก์ให้เช่าที่ดินส่วนที่ซื้อจากนายห้อยตลอดมา โดยไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนอื่น โจทก์ขอแบ่งที่ดินโดยไม่ถือตามส่วนที่แยกกันครอบครองกันมา จำเลยกับพวกจึงไม่ยอม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกตามเนื้อที่ดินที่จำเลยรับโอนมาจากนายห้อย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกับพวกแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดนับแต่ได้รับแบ่งแยกนับถึงบัดนี้เป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ที่ดินนายห้อยมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓๐ ตารางวาตามแผนที่วิวาทหมายเลข ๑ โจทก์ชอบที่จะได้รับแบ่งที่ดินส่วนนั้น และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อนเป็นการไม่ถูกต้อง ควรสืบพยานโจทก์ใหม่นั้นว่าโจทก์จำเลยได้สืบพยานเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้ว คำสั่งเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบจะเป็นการถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เป็นผลทำให้การวินิจฉัยคำพยานเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไขเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ
พิพากษายืน