คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2897-2898/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 มาส่งยังสถานที่ลักทรัพย์ แล้วนัดหมายกำหนดเวลากันว่าจะขับรถจักรยานยนต์มารับกลับเมื่อใดนั้น ถือได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนและขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 3 และที่ 5 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์แต่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในความผิดดังกล่าว ตามที่ได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91, 335, 336 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 บวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2258/2542 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้และนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3468/2524 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (1) (3) (4) (7) (8) (ที่ถูก มาตรา 335 (1) (3) (4) (7) (8) วรรคสอง), 336 ทวิ เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ จำคุก 9 ปี ฐานมีอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 จำคุกฐานลักทรัพย์ คนละ 9 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 11 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา และคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 คนละ 6 ปี นับโทษจำเลยที่ 1 คดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3468/2542 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอบวกโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2258/2542 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 คดีนี้นั้น ปรากฏว่าจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นบุคคลคนละคนกับจำเลยที่ 1 คดีนี้ จึงไม่อาจบวกโทษได้ ยกคำขอโจทก์ส่วนนี้ ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาลักทรัพย์
… พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายโดยงัดเหล็กดัดหน้าต่างบ้านจนหลุดออกอันเป็นการทำอันตรวจสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์แล้วผ่านเข้าไปทางช่องหน้าต่างดังกล่าวซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้าในเคหสถานนั้น แล้วลักทรัพย์เครื่องประดับ ตุ้มหู สร้อย แหวน กำไล และทรัพย์อื่นๆ จำนวน 32 รายการ รวมราคา 2,071,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานนั้นไป โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งห้ากับนายปัญญา จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2660/2543 ของศาลชั้นต้น และยึดได้ทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายกับรถจักรยานยนต์ 1 คัน ที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โดยจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายดังกล่าวจริงตามฟ้อง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ พบจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 อยู่ในบ้านด้วย พร้อมกับทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกลักมาบางรายการ สอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 รับว่าได้ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายมาจริงตามบันทึกการจับกุม และบัญชีทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายได้คืน การบันทึกการจับกุมได้กระทำยังสถานที่จับกุมในขณะที่ถูกจับกุมทันที จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ไม่มีเวลาพอที่จะคิดหาข้อแก้ตัวได้ทันท่วงที ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ก็ให้การรับสารภาพว่าร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้อื่นจริง โดยมีพันตำรวจโทธรรมสาร พนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองไว้ ทั้งเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ มิได้มีการข่มขู่บังคับหรือหลอกลวงฉ้อฉลแต่ประการใด ปรากฏตามคำให้การประกอบกับบันทึกคำให้การดังกล่าวมีขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ ในการกระทำผิด ยากที่จะเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวเหตุการณ์ขึ้นมาเองได้หากไม่มีมูลความจริง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ได้ไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพซึ่งพนักงานสอบสวนได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ก็มิได้ต่อสู้ว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายหรือบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ ดังนั้น คำรับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานหลักฐานได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ร่วมกันขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปส่งเพื่อลักทรัพย์ของผู้เสียหาย และเมื่อได้เวลานัดหมายกลับ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ก็ร่วมกันขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 กลับจากการลักทรัพย์ ปัญหามีต่อไปว่า จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 จะมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า การขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 มาส่งยังสถานที่ลักทรัพย์ แล้วนัดหมายกำหนดเวลากันว่าจะขับรถจักรยานยนต์มารับกลับเมื่อใดนั้น ถือได้ว่า จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนและขณะกระทำผิด จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 ในความผิดดังกล่าว ตามที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากาษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (4) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 86 จำคุกคนละ 6 ปี คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 คนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share