แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท. ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้น หากยังมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 8 ผ- 9399 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูงและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน มข 1617 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งขับอยู่ด้านหน้า เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย โจทก์นำรถยนต์เข้าอู่ซ่อมตั้งแต่วันเกิดเหตุ ซ่อมเสร็จวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 รวมเวลา 32 วัน โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ออกขับรับจ้างในระหว่างนั้นได้ ทำได้โจทก์ขาดรายได้สุทธิวันละ 700 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 22,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์เสียหายจริง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับไว้กับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัดและโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าเสียหาย 18,000 บาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด แล้ว ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดระงับไป ทั้งโจทก์ได้ให้สัญญาไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัทและผู้เกี่ยวข้องอื่น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอีก ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความจริง หากโจทก์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซึ่งได้มาตรฐานจะซ่อมเสร็จภายใน 5 วัน การขับรถยนต์รับจ้างของโจทก์เมื่อหักค่าน้ำมันและค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์แล้วมีรายได้สุทธิเพียงวันละ 200 บาท ค่าเสียหายส่วนนี้มีไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,200 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับไว้กับบริษัทไทยศรีชูริคประกันภัย จำกัด ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด โดยยอมรับค่าเสียหาย 18,000 บาท จากบริษัทดังกล่าว ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างทำการซ่อมจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อโจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 หนี้ในมลูละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงไม่มีอีกต่อไป โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้กับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ความรับผิดของบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอกเป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ทำไว้กับจำเลยที่ 2 อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัดได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ดังนั้น หากยังมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด เท่านั้นไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า เงินจำนวน 18,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปจากบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด เป็นค่าเสียหายซึ่งรวมค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์อยู่ด้วยแล้ว เพราะถือได้ว่าเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั้น เห็นว่า แม้หากจะถือว่าค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์เป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งของความเสียหายต่อทรัพย์สินดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตาม แต่เหตุเพียงเท่านี้ก็มิได้บ่งชี้ว่าบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ได้ชดใช้ค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์รวมอยู่ในค่าเสียหาย 18,000 บาท นั้นแล้วหรือไม่ เมื่อข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระบุชัดแจ้งว่าเงินจำนวน 18,000 บาท ที่โจทก์ตกลงยอมรับจากบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด เพื่อระงับข้อพิพาทที่มีต่อกันนั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายในส่วนใดบ้าง การวินิจฉัยปัญหานี้จึงต้องฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบถึงเจตนาในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความมาประกอบการวินิจฉัยด้วย มิใช่จะวินิจฉัยได้โดยเพียงแต่พิเคราะห์ถ้อยคำในสัญญาซึ่งศาลชั้นต้นฟังตามที่โจทก์นำสืบว่าบริษัทไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ชดใช้ค่าเสียหาย 18,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าซ่อมค่าซ่อมรถยนต์เท่านั้น ไม่รวมถึงค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ และศาลอุทธรณ์ไม่ได้ฟังเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้โดยเนื้อแท้จึงเป็นการโต้เถียงให้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อนำไปสู่ปัญหาในเรื่องการตีความสัญญา ผลเท่ากับเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างทำการซ่อม จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาท แทนโจทก์