คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2463 แล้วลาออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2477 โดยได้ไปเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราและสอนกฎหมายซึ่งเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2477 นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2477 ถึง พ.ศ. 2502 โจทก์ได้รับบำนาญจากทางราชการตลอดมา แต่ต่อมาได้คืนบำนาญสำหรับปี พ.ศ. 2501 และ 2502 เนื่องจากในวันที่ 1 มกราคม 2500 ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 ออกใช้บังคับและโดยผลของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้โจทก์ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2477 แม้การที่กฎหมายเปลี่ยนฐานะของโจทก์จากการเป็นลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญจะถือไม่ได้ว่าเป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2494 เพราะไม่มีการกลับเข้ารับราชการใหม่ แต่โดยที่โจทก์เป็นผู้ได้รับบำนาญอยู่ก่อนที่โจทก์จะได้รับการเปลี่ยนฐานะจากลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เมื่อมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะคิดเวลาราชการของโจทก์ทั้งสองครั้งติดต่อกันเพื่อคำนวณเงินบำนาญได้หรือไม่ กรณีต้องวินิจฉัยคดีเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 คือเทียบกับมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2494 ซึ่งตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้าราชการผู้ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งการรับราชการครั้งเก่าและครั้งใหม่ติดต่อกันสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ จะต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียก่อนภายใน 30 วัน นับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ สำหรับกรณีของโจทก์เมื่อไม่มีวันกลับเข้ารัชราชการใหม่ก็ควรจะต้องถือว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งสองครั้งติดต่อกัน โจทก์ก็ต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้บังคับของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 เมื่อโจทก์มิได้บอกเลิกรับบำนาญภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะขอให้จำเลยคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญทั้งเวลาราชการครั้งก่อนและครั้งหลังติดต่อกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการแผนกต่างประเทศ กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๖๓ และได้โอนไปรับราชการกระทรวงเศรษฐการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ที่ถูกคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) ยืมตัวโจทก์ไปเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราและสอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยนี้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๗ ต่อมาโจทก์ได้ลาออกรับบำนาญจากกระทรวงเศรษฐการเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๗๗ แต่ยังคงเป็นลูกจ้างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตลอดมาจนถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ จึงได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙ ออกมาใช้บังคับให้ยกฐานะโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญย้อนหลังไปถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นวันแรกที่โจทก์ถูกยืมตัวมาเป็นผู้ช่วยจัดทำตำรา ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้โจทก์ไปทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังคงรับเงินเดือนในตำแหน่งเดิมอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๐๒ จำเลยมีหนังสือที่ ศก.๖๒๘๐๒/๒๕๐๒ นำส่งสำเนาหนังสือของจำเลยถึงกระทรวงเศรษฐการที่ ๖๒๘๐๐/๒๕๐๒ ความว่า การที่โจทก์ได้รับยกฐานะเป็นข้าราชการย้อนหลังนั้น เป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่ โจทก์มิได้บอกคืนบำนาญเดิมภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ หากโจทก์จะออกจากราชการ โจทก์ก็หมดสิทธิ์ที่จะให้นับเวลาราชการติดต่อกัน โจทก์ได้บันทึกคัดค้านและสงวนสิทธิ์ไว้แล้ว ต่อมาวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๕ จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินบำนาญที่เบิกเกินไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ เป็นเงิน ๘,๙๗๐ บาท ๘๗ สตางค์ โจทก์ได้คัดค้าน แต่ได้ให้เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หักเงินบำนาญที่เบิกเกินจากเงินสะสมของโจทก์ โดยถือว่าคืนให้ตามกฎหมายลักษณะลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ครบเกษียณอายุใน พ.ศ. ๒๕๐๕ จำเลยนับวันราชการของโจทก์เป็น ๒ ตอน ตอนแรกตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๗๗ แล้วคิดบำนาญไว้ยอดหนึ่งก่อน ตอนที่สองตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๗๗ ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๕ แล้วคิดเงินบำนาญไว้อีกยอดหนึ่ง แล้วนำยอดเงินทั้งสองจำนวนมาบวกกันจ่ายเป็นเงินบำนาญให้โจทก์ซึ่งเป็นการขัดแย้งต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙, ๑๖๐ การกระทำของจำเลยขัดแย้งต่อมาตรา ๒ และ ๕ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙ เพราะโจทก์มิใช่ผู้กลับเข้ารับราชการใหม่ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ ขอให้บังคับให้จำเลยรับว่าโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญย้อนหลังโดยเฉพาะเจาะจง ให้จำเลยนับเวลาราชการเพื่อคำนวณบำนาญของโจทก์ติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๖๕ จนถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๕ ให้จำเลยเริ่มเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่มิได้ เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายเปลี่ยนฐานะของโจทก์จากการเป็นลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้น ไม่มีการกลับเข้ารับราชการใหม่แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายนั้นหากไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้และไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้บังคับก็ต้องวินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ได้รับบำนาญอยู่ก่อนที่โจทก์จะได้รับการเปลี่ยนฐานะจากลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงควรเทียบได้กับมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๔ ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา ๓๐ ดังกล่าว ข้าราชการผู้ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งการรับราชการครั้งเก่าและครั้งใหม่สำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญนั้น จะต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียก่อนภายใน ๓๐ วันนับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ กรณีของโจทก์เมื่อไม่มีวันกลับเข้ารับราชการใหม่ก็ควรจะต้องถือว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งสองครั้งติดต่อกัน โจทก์ก็ต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียภายใน ๓๐ วันนับตั้งแต่วันประกาศใช้บังคับของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อโจทก์มิได้บอกเลิกรับบำนาญภายในกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะขอให้จำเลยคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญทั้งเวลาราชการครั้งก่อนและครั้งหลังติดต่อกันได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้ยกฟ้องของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ

Share