คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินมาแล้วได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการปลูกตึกแถวสองชั้นรวม 10 คูหา ลงในที่ดินโฉนดหนึ่ง ส่วนอีก 3 โฉนดเดิมเป็นแหล่งเสื่อมโทรม โจทก์ได้ลงทุนปรับปรุงด้วยการถมดิน ทำถนนคอนกรีต สร้างสะพานข้ามคลองพร้อมทั้งเขื่อนสร้างอาคารพาณิชย์ 82 คูหา ตลาดสด 2 ตลาด และแผงคอนกรีต 300 แผง ซึ่งในการนี้โจทก์ได้ลงทุนไปนับสิบล้านบาท โดยการนำที่ดินไปจำนองและกู้เงินจากผู้อื่นมาเกือบห้าล้านบาท สร้างแล้วไม่นานก็ขายไป พฤติการณ์แสดงว่าเป็นการประกอบธุรกิจการค้าหากำไร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ แม้ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้องขาดทุนจากการขายเพราะมีอุปสรรคในการดำเนินการ สมมุติว่าเป็นความจริงก็เกิดจากการดำเนินงานผิดพลาดของโจทก์เอง และไม่มีข้อยกเว้นในประมวลรัษฎากรว่า กรณีเช่นนี้ไม่ต้องเสียภาษีการค้า
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าทั้งหมด และในแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าท้ายฟ้องก็ระบุด้วยว่า เบี้ยปรับเรียกเก็บตามมาตรา 89 (21) อันเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตามมาตรา 80 เมื่อศาลเห็นว่าควรเรียกเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าภายในกำหนด ศาลย่อมพิพากษาแก้ไขโดยให้จำเลยกำหนดเบี้ยปรับใหม่ตามมาตรา 89 (2) ได้ หานอกฟ้องนอกประเด็นไม่ เพราะเท่ากับเป็นการเพิกถอนการประเมินบางส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ โดยถือว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหากำไร ความจริงโจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาเพื่อก่อสร้างอาคารเก็บกินค่าเช่า แต่โจทก์ต้องขายไปด้วยความจำเป็นในราคาต่ำกว่าทุนมากมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ ๒ และยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓, ๔, ๕
จำเลยทั้งห้าให้การว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ให้จำเลยกำหนดเบี้ยปรับใหม่ตามมาตรา ๘๙ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าการที่โจทก์ขายทรัพย์สินไปนั้นเป็นไปในทางการค้าหากำไร แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยกำหนดเบี้ยปรับใหม่ตามมาตรา ๘๙ (๒) เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น พิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับตามาตรา ๘๙ ทั้งในข้อ (๑) และ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ ๒ และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓, ๔, ๕ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับตามมารตรา ๘๙ (๑) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินมาแล้ว ก็ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการปลูกตึกแถวสองชั้นรวม ๑๐ คูหา ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๑๗ ส่วนที่ดินโฉนดที่ ๒๔๓, ๑๖๒๐ และ ๓๗๘๘ นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรม โจทก์ได้ลงทุนปรับปรุงด้วยการถมที่ดิน ทำถนนคอนกรีตสร้างสะพานข้ามคลองบางลำภูพร้อมทั้งเขื่อน สร้างอาคารพาณิชย์ ๘๒ คูหา ตลาดสด ๒ ตลาด และแผงลอยอีก ๓๐๐ แผง ซึ่งในการนี้โจทก์ได้ลงทุนไปนับสิบล้านบาท โดยการนำที่ดินไปจำนองและกู้เงินจากผู้อื่นมาเกือบห้าล้านบาท สร้างแล้วไม่นานก็ขายไป พฤติการณ์แสดงว่าเป็นการประกอบธุรกิจการค้าหากำไร แม้ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้องขาดทุนจากการขายเพราะมีอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินการ เช่น ต้องเป็นความกับวัด และเทศบาลนครกรุงเทพ สมมุติว่าเป็นความจริง ก็เกิดจากการดำเนินงานผิดพลาดของโจทก์เอง และไม่มีข้อยกเว้นในประมวลรัษฎากรว่า กรณีเช่นนี้ไม่ต้องเสียภาษีการค้า
ส่วนปัญหาเรื่องเบี้ยปรับที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ว่าชอบหรือมิชอบประการใด คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ให้งดเบี้ยปรับ จึงนอกฟ้องนอกประเด็นและขอให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าทั้งหมด และในแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าก็ระบุไว้ด้วยว่า เบี้ยปรับเรียกเก็บตามมาตรา ๘๙ (๑) อันเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตามมาตรา ๘๐ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าควรเรียกเบี้ยปรับตามมาตรา ๘๙ (๒) ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าภายในกำหนด เท่ากับเป็นการเพิกถอนการประเมินบางส่วน ศาลชั้นต้นย่อมชอบที่จะพิพากษาแก้ไขได้
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share