คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยระบุจำนวนเงินได้ถูกต้อง แต่ระบุประเภทของเงินได้ผิด ทำให้จำนวนภาษีที่โจทก์คำนวณไว้ผิดไปด้วย จึงถือว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง หรือไม่บริบูรณ์เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนแล้วประเมินภาษีอากรให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำเป็นต้องประเมินภาษีอากรของโจทก์ทันทีตามมาตรา 18

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 ประเมินภาษีของโจทก์ใหม่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า โจทก์มีเงินได้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและเงินได้จากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและจำหน่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยค้างคืน เมื่อปี พ.ศ. 2521 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.9 เอกสารหมาย จ.1และชำระภาษีแล้วตามใบเสร็จรับเงินหมาย จ.2 โดยโจทก์แสดงเงินได้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเหมาร้อยละ60 ส่วนเงินได้จากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและจำหน่ายยาให้แก่ผู้ป่วย โดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยค้างคืนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) หักค่าใช้จ่ายเหมาร้อยละ 75 ต่อมาจำเลยที่ 2ได้ออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ไปตามหมายเรียกและให้ปากคำไว้ตามภาพถ่ายคำให้การหมาย จ.7ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ตามเอกสารหมาย จ.9โดยประเมินภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2521 ของโจทก์ตามมาตรา 20, 22แห่งประมวลรัษฎากร และเปลี่ยนเงินได้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) เปลี่ยนเงินได้จากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและจำหน่ายมาให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยค้างคืนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6)ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 3,194.25 บาท เงินเพิ่มภาษี 638.85 บาท รวมเป็นเงิน 3,833.10 บาท ซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีจำนวนนี้แล้วโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำอุทธรณ์หมาย จ.11 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง แล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์หมาย จ.12
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า เงินได้ของโจทก์ประจำปีพ.ศ. 2521 จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดนั้น ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 502/2526 ซึ่งโจทก์คดีนี้ฟ้องกรมสรรพากรกับพวกเป็นจำเลย โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเงินได้ของโจทก์ที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้นเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) ส่วนเงินได้จากคลีนิคซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของและดำเนินการรับรักษาผู้ป่วยแต่เพียงผู้เดียวนั้น ถือเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 40(6) ดังนั้นเงินได้ของโจทก์จึงไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) และ 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่เพียงยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วนว่ามีเงินจากกิจการใดบ้าง จำนวนเท่าใด ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องแสดงรายการให้ถูกต้องตามประเภทของรายได้ การที่จำเลยที่ 2 ทำการประเมินภาษีอากรของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 โดยที่ไม่มีการประเมินตามมาตรา 18 วรรค 1 แห่งประมวลรัษฎากรเสียก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จำนวนเงินได้ที่โจทก์แสดงไว้ในแบบ ภ.ง.ด.9 จะเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้องก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ระบุประเภทของเงินได้ผิดไปดังได้กล่าวมาแล้ว ย่อมทำให้จำนวนภาษีที่โจทก์คำนวณไว้ในแบบ ภ.ง.ด.9 นั้นผิดไปด้วย กรณีจึงถือว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนแล้วประเมินภาษีอากรของโจทก์ให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 19และ 20 แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยไม่จำเป็นต้องประเมินภาษีอากรของโจทก์ทันทีตามมาตรา 18 ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ดังกล่าว ดังนั้นการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share