แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานประจำวันของสถานีตำรวจภูธรอำเภอลาดหลุมแก้วไม่เป็นสัญญาระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปทีเดียว ยังมีเงื่อนไขให้ไปตกลงค่าเสียหายกับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยอีก จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ
การที่ผู้เอาประกันปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิดดังเช่นคดีนี้ ผู้รับประกันจะยกเอาเงื่อนไขดังกล่าวมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรผู้รับประกันภัยก็จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างแน่นอนอยู่แล้ว จุดประสงค์ของการกำหนดเงื่อนไขตามข้อตกลงดังกล่าวก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้เอาประกันภัยไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น
คดีมีทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1(ผู้รับช่วงสิทธิ) เรียกร้องไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่6) พ.ศ.2518 มาตรา 6ข้อที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1จำนวน 23,495 บาท ไม่ใช่ค่าเสียหายที่ถูกต้อง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ค่าขาดผลประโยชน์และค่าเสื่อมราคารถของโจทก์ที่ 2 ก็ถือได้ว่าเป็นความเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่เนื่องมาจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.27358 และเป็นนายจ้างของนายเอื้อน ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ที่ 1 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันนี้ไว้จากบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัดและโจทก์ที่ 2 ในประเภทรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ คันหมายเลขทะเบียน 5น-3946 กรุงเทพมหานครและเป็นลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้วยความประมาทชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนน.ฐ.27358 ซึ่งจอดอยู่ซ้ายสุดของถนนฝั่งตรงข้ามกับช่องทางเดินรถที่จำเลยที่ 1ขับมาได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไว้ในขณะเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยได้นำรถคันนี้ไปซ่อมสิ้นเงินไป 23,495 บาท โจทก์ที่ 1 จึงรับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ 2 มาฟ้องเรียกค่าเสียหายโจทก์ที่ 2 ขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นเงิน 30,000 บาท รถเสื่อมสภาพและราคาไป20,000 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันและแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 25,257 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 53,750 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.27358 โจทก์ที่ 1 ก็มิได้รับประกันรถคันดังกล่าวไว้จากโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.27358 มีการตกลงประนีประนอมยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิด จำนวนค่าเสียหายของโจทก์มีไม่ถึงตามฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ตกลงระงับสิทธิเรียกร้องทางแพ่งและทางอาญากันไปแล้ว โจทก์ที่ 1 ผู้รับช่วงสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องและการที่จำเลยที่ 2 ไปตกลงยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 โดยพลการเป็นการผิดเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงพ้นความรับผิดค่าเสียหายมีเพียง 28,100 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,257 บาทแก่โจทก์ที่ 1 เงินจำนวน 16,125 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.27358 เอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2522เวลากลางคืน นายเอื้อนลูกจ้างโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวมาตามถนนสายบางเลน-ปทุมธานี แล้วจอดรถใกล้ ๆ ปั๊มน้ำมันเอสโซ่ และเปิดสัญญาณไฟไว้นายเอื้อนลงรถไปซื้อน้ำแข็ง ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 5น-3946 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลยที่ 3 สวนทางมา แล้วรถแล่นกินทางเข้าไปเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาจำเลยที่ 1ว่าขับรถประมาทและเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ไปแล้ว นายชัยณรงค์น้องชายจำเลยที่ 2 ไปพบพนักงานสอบสวนกับโจทก์ที่ 2 นายชัยณรงค์ให้ค่าเสียหายแก่นางสะอาดผู้ได้รับบาดเจ็บและยินดีชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 แต่ให้ไปตกลงค่าเสียหายกับบริษัทจำเลยที่ 3 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และตามเอกสารหมาย ล.1ซึ่งเป็นรายงานประจำวันของสถานีตำรวจภูธรอำเภอลาดหลุมแก้วไม่เป็นสัญญาระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปทีเดียว ยังมีเงื่อนไขให้ไปตกลงค่าเสียหายกับจำเลยที่ 3จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ
ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งเหตุที่เกิดโดยพลันแก่จำเลยที่ 3ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเรื่องนี้ให้ทั้งที่มีปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าผู้เอาประกันภัยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.4.1 เพราะไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเห็นว่าจุดประสงค์ของการกำหนดเงื่อนไขตามข้อตกลงดังกล่าวก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้เอาประกันภัยไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายถูกเท่านั้นแต่สำหรับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิดดังเช่นคดีนี้ จะเอาเงื่อนไขดังกล่าวมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรผู้รับประกันภัยก็จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างแน่นอนอยู่แล้ว
คดีนี้ทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 6 ข้อที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่าค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 จำนวน 23,495 บาทไม่ใช่ค่าเสียหายที่ถูกต้องเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าค่าขาดผลประโยชน์และค่าเสื่อมราคาก็ถือได้ว่าเป็นความเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่เนื่องมาจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิด
พิพากษายืน