แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในทางเอกด้วยกัน ณ ที่ร่วมกันตัดกัน หรือแยกกัน ให้รถที่มาจากทางซ้ายผ่านไปก่อนนั้น หมายถึงกรณีที่รถทั้งสองคันมาถึงปากทางที่ร่วมกัน ตัดกัน หรือแยกกัน พร้อมกัน แต่ถ้าหากรถคันทางขวามาถึงทางดังกล่าวแล้วก่อน ก็หาจำต้องหยุดรอให้รถคันทาางซ้ายผ่านไปก่อนไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ เวลาประมาณ ๖.๐๐ นาฬิกา จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์สาธารณะ สายสี่พระยาบางพลัด จากสามย่าน ไปทางสี่แยกราชเทวี จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์สาธารณะ สายพระโขนงวัดโพธิ์ จากสี่แยกราชประสงค์ ไปทางสะพานกษัตริย์ศึก ด้วยความประมาท จำเลยทั้งสองขับรถผ่านสี่แยกปทุมวันด้วยความเร็วเกินกว่า ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจำเลยที่ ๒ มาถึงทางสี่แยกพร้อมกับรถจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่หยุดรถให้รถจำเลยที่ ๑ ซึ่งมาทางด้านซ้ายผ่านไปก่อน เป็นเหตุให้รถของจำเเลยทั้งสองชนกัน และมีผู้บาดเจ็บหลายคน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ มาตรา ๑๓,๒๔,๖๖ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๔ กฎกระทรวงมหาดไทย(ฉบับที่ ๒) ข้อ ๑๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ขับรถโดยประมาทให้จำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ มีกำหนด ๕ เดือน ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ ๖.๐๐ นาฬิกา ไฟที่ป้อมสัญญาณกลางสี่แยกปทุมวันยังไม่เปิด เจ้าพนักงานจราจรยังไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ถนนพญาไทและถนนพระราม ๑ ที่มาตัดกันนี้เป็นทางเอกทั้งคู่ จำเลยที่ ๒ ขับรถเข้าทางสี่แยกด้วยความเร็วประมาณ ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ ๑ ขับรถมาด้วยความเร็วมาประมาณ ๖๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้อที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ไม่หยุดรถให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งมาจากทางด้านซ้ายผ่านไปก่อนนั้น ตามประกาศเจ้าพนักงานจราจรลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๙๔ ข้อ ๓ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ในทางเอกด้วยกัน ณ ที่ร่วมกัน ตัดกัน หรือแยกกัน ให้รถที่มาจากทางซ้ายผ่านไปก่อน” นั้น หมายถึงกรณีที่รถทั้งสองคันมาถึงปากทางที่ร่วมกัน ตัดกัน หรือแยกกัน พร้อมกัน แต่ถ้าหากรถคันทางขวามาถึงปากทางดังกล่าวแล้วก่อน ก็หาจำต้องหยุดรถให้รถคันทางซ้ายไปก่อนไม่ เมื่อได้พิเคราะห์จุดชนตามแผนที่เกิดเหตุซึ่งปรากฎว่ารถจำเลยที่ ๒ ขับจากปากทางที่ตัดกันถึง๑๐.๒๐ เมตร ส่วนรถจำเลยที่ ๑ พ้นจากปากทางที่ตัดกันเพียง ๘.๗๐ เมตร ประกอบแล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้ง ๆ ที่รถจำเลยที่ ๒ แล่นมาด้วยความเร็วต่ำกว่ารถจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี ก็ยังพ้นปากทางที่ตัดกันมาเป็นระยะไกลกว่ารถจำเลยที่ ๑ แสดงว่ารถของจำเลยที่ ๒ มาถึงปากทางที่ตัดกันของจำเลยที่ ๒ ก่อนรถของจำเลยที่ ๑ จะมาถึงปากทางที่ตัดกันของจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้ยังปรากฎว่าจุดที่รถทั้งสองชนกันอยู่เลยป้อมสัญญาณไฟกลางสี่แยกไปทางสะพานกษัตริย์ศึกถึง ๑.๔๐ เมตร ก็ยิ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่ารถจำเลยที่ ๒ ผ่านปากทางที่ตัดกันของจำเลยที่ ๒ มาก่อน ส่วนรถจำเลยที่ ๑ มาถึงปากทางที่ตัดกันของตนภายหลัง ดังนั้น รถจำเลยที่ ๒ ย่อมผ่านปากทางที่ตัดกันไปได้โดยไม่ต้องหยุดรอให้รถจำเลยที่ ๑ ผ่านไปก่อน เพราะขณะนั้น รถจำเลยที่ ๑ ยังมาไม่ถึงปากทางที่กักกัน จำเลยที่ ๒ จึงมิได้ฝ่าฝืนประกาศของเจ้าพนักงานจราจรแต่อย่างใด ตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์