คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2886/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ และเพียงแต่นำคำรับสารภาพดังกล่าวมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้เกิดเหตุก่อนที่จะมีการแก้ไข ป.วิ.อ. มาตรา 84 จึงไม่ต้องห้ามที่จะรับฟังถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุม
จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยและ อ. ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจาก น. ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า ค. พร้อมกับแจ้งตำหนิรูปพรรณ ของ น. ต่อพนักงานสอบสวนด้วย เมื่อยังไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจับกุม น. ผู้ที่จำเลยอ้างว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษซึ่งจะมีเหตุบรรเทาโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบเมทแอมเฟตามีนกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีและพาอาวุธปืน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนั้นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 8 ปี คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก
5 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่จำเลยขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าสีน้ำเงินหมายเลขทะเบียน กท 9381 นนทบุรี โดยมีนายอนุชัย เกษรบัว นั่งคู่กับจำเลย ไปจอดที่บริเวณลานจอดรถของอาคารบุญโตแมนชั่น ซึ่งอยู่ในซอยเขมทัศน์ 2 เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยและนายอนุชัย พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 100 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีฟ้าวางอยู่บริเวณที่พักเท้าของนายอนุชัย กับอาวุธปืนพกแบบรีวอลเวอร์ขนาด .38 เครื่องหมายทะเบียน กจ 1/9215 ของนางอรวรรณอาภรณ์อักษรกิจ ที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียน พร้อมกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 นัด อยู่ในรังเพลิงของอาวุธปืนดังกล่าวโดยพกอยู่ที่เอวจำเลย และพบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพีซีที 1 เครื่องที่ตัวจำเลย กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่ตัวนายอนุชัยจึงยึดเป็นของกลาง และแจ้งข้อหาแก่จำเลยกับนายอนุชัยว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นายอนุชัยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5559/2545 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจธงชัย และจ่าสิบตำรวจสุเทพ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนเกิดเหตุให้สายลับนำเงิน 6,000 บาท ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 100 เม็ด จากนายอนุชัย โดยนัดส่งมอบกันที่หน้าร้านสุกี้ศรีนนท์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับรถพานายอนุชัยไปรับสายลับที่หน้าร้านสุกี้ศรีนนท์แล้วไปจอดที่บริเวณลานจอดรถของอาคารบุญโตแมนชั่นเมื่อเข้าตรวจค้นจับกุมก็พบเมทแอมเฟตามีน 100 เม็ด อยู่ในรถจำเลยโดยวางอยู่บริเวณที่พักเท้าของนายอนุชัย เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางถูกค้นพบในรถจำเลยแม้เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะวางอยู่บริเวณที่พักเท้าของนายอนุชัย แต่ก็ไม่ใช่จะถือว่าเป็นของนายอนุชัยแต่เพียงผู้เดียวเพราะในชั้นจับกุมนอกจากจำเลยและนายอนุชัยจะให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 แล้ว จำเลยยังเขียนบันทึกคำรับสารภาพด้วยลายมือของตนเองตามเอกสารหมาย จ. 4 โดยมีรายละเอียดว่า จำเลยและนายอนุชัยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายบันทึกดังกล่าวจำเลยเขียนที่สถานีตำรวจภูธร เมืองนนทบุรีต่อหน้าร้อยตำรวจเอกพฤฒ รองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี โดยมีนายอนุชัยลงลายมือชื่อเป็นพยาน จึงไม่มีเหตุสงสัยว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายให้จำเลยรับสารภาพที่สถานีตำรวจดังกล่าว เพราะจำเลยต่อสู้เพียงว่าถูกทำร้ายร่างกายแต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ใด ทั้งคำรับสารภาพดังกล่าวกระทำในเวลากระชั้นชิดหลังถูกจับกุมเชื่อว่าเป็นคำรับสารภาพโดยสมัครใจโดยจำเลยยังไม่มีโอกาสหาข้อแก้ตัวเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนจำเลยยังให้การรับว่าจำเลยและนายอนุชัยมีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อเสพคนละ 50 เม็ด โดยจำเลยยืนยันว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจไม่มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญ ซึ่งโจทก์มีร้อยตำรวจเอกวิศิษฎ์ ท่านมุข พนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนในข้อนี้ ทั้งจำเลยและนายอนุชัยยังได้นำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ. 9 และภาพถ่ายหมาย จ. 10 ซึ่งนายอนุชัยที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า นายอนุชัยกับจำเลยนำชี้โดยไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจแนะนำหรือบังคับ แม้หลังจากนั้นจำเลยจะขอให้การในชั้นสอบสวนใหม่ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. 11 ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของนายอนุชัยเพียงผู้เดียว โดยอ้างว่านายอนุชัยใช้อุบายหลอกล่อและข่มขู่ให้จำเลยให้การในครั้งแรก นายอนุชัยก็มิได้เบิกความว่าได้กระทำเช่นนั้นต่อจำเลยคำให้การในชั้นสอบสวนครั้งที่สองตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. 11 จึงมีพิรุธส่อแสดงว่าเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นผิด นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะแกล้งปรักปรำจำเลยโดยไม่มีมูลความจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่จำเลยนำสืบต่อสู้และฎีกาว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของนายอนุชัย โดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย เพราะนายอนุชัยขออาศัยรถไปลงยังห้องพักของนายอนุชัยที่อาคารบุญโตแมนชั่นซึ่งอยู่เส้นทางเดียวกับบ้านจำเลยนั้น เมื่อพิจารณาจากแผนที่เอกสารหมาย ล. 1 ที่จำเลยอ้างว่า บ้านจำเลยอยู่ที่จุดหมายเลข 4 ปรากฏว่า บ้านจำเลยไม่ได้อยู่เส้นทางเดียวกับอาคารบุญโตแมนชั่นทั้งยังมีถนนรัตนาธิเบศร์ซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่หลายช่องทางรวมทั้งมีถนนคู่ขนานอยู่ด้านข้างคั่นอยู่ ซึ่งไม่สะดวกต่อจำเลยที่เมื่อไปส่งนายอนุชัยแล้วต้องขับรถย้อนออกมากลับรถเสียก่อนจึงจะขับรถเข้าไปในซอยบ้านจำเลยได้ ขัดต่อเหตุผลที่อ้างว่าเป็นการขออาศัยรถเพราะอยู่เส้นทางเดียวกัน ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไปพบนายอนุชัยที่ร้านอาหารซึ่งนายดำรงหรือรัก พ่วงนวมเป็นหุ้นส่วนนั้น นายดำรงที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยหาได้ยืนยันถึงความข้อนี้ไม่ นอกจากนี้ระหว่างที่จำเลยขับรถไปส่งนายอนุชัย นายอนุชัยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับบุคคลอื่นแล้วให้จำเลยไปจอดรถรับผู้หญิงที่ร้านสุกี้ศรีนนท์โดยไม่ปรากฏว่ารับผู้หญิงดังกล่าวไปที่ใดและไม่มีการพูดคุยกันระหว่างที่ขึ้นมาบนรถ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ครอบครองรถโดยทั่วไป ที่จำเลยฎีกาว่า นางสาวเบญจมาศ เรียนปรุ ซึ่งเป็นสายลับในคดีนี้มาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในครั้งนี้ โดยนางสาวเบญจมาศมีชื่อเล่นว่าน้ำฝน ดังได้เคยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารท้ายคำแถลงการณ์ในชั้นฎีกานั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับชื่อและชื่อสกุลของสายลับดังกล่าวไว้ก่อน ทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของนายอนุชัยระบุแต่เพียงว่าแต่ก่อนถูกจับกุมนางฝนโทรศัพท์ให้นายอนุชัยไปรับเท่านั้น ครั้นเมื่อเบิกความต่อศาลนายอนุชัยกลับอ้างว่า นางน้ำฝนโทรศัพท์แจ้งให้นายอนุชัยนำเมทแอมเฟตามีนไปส่ง นางสาวเบญจมาศพยานจำเลยก็มิได้เบิกความยืนยันว่าตนเองมีชื่อเล่นว่าฝนหรือน้ำฝน จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า หญิงที่โทรศัพท์ไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายอนุชัยชื่อนางน้ำฝน หาใช่นางสาวเบญจมาศไม่ จำเลยจึงนำรายงานประจำวันดังกล่าวมายื่นในภายหลังจากที่ยื่นฎีกาแล้วทำให้มีน้ำหนักน้อย ที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกให้การตามเอกสารหมาย จ. 2 จ. 4 และ จ. 7 เป็นเอกสารไม่ชอบต้องห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ และเพียงแต่นำคำรับสารภาพดังกล่าวมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้เกิดเหตุก่อนที่จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 จึงไม่ต้องห้ามที่จะรับฟังถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุมที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยและนายอนุชัยซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายน้อยที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูพร้อมกับแจ้งตำหนิรูปพรรณของนายน้อยต่อพนักงานสอบสวนด้วย ถือได้ว่าให้ข้อมูลที่สำคัญอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีเหตุบรรเทาโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 นั้น ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจับกุมนายน้อยผู้ที่จำเลยอ้างว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยจำคุก 8 ปี ก่อนลดโทษนั้น เห็นว่า หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share