คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10267/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นบิดา ณ. เจ้าของรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ และเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ และไม่มีกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุจะต้องรับผิดต่อ ณ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเหตุละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกี่ยวกับตัวรถโดยตรงจากจำเลย นอกจากนี้ ณ. เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุขับไปเรียนหนังสือ จึงเป็นสิทธิของ ณ. ที่จะฟ้องเรียกค่าพาหนะดังกล่าวมิใช่โจทก์ แม้โจทก์จะเป็นผู้จ่ายค่าพาหนะให้แก่ ณ. ก็ตามโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 142,062.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 134,763.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 41,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,500 บาท นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์กำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายณัฐพงศ์ บุตรโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขยท สงขลา 327 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บพ 1869 สงขลา ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขยท สงขลา 327 ที่โจทก์เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้แก่ ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ ค่าขาดรายได้จากการกรีดยางพาราของโจทก์ และค่าพาหนะที่โจทก์จ่ายให้นายณัฐพงศ์ในการเดินทางไปเรียนหนังสือ สำหรับค่าขาดรายได้จากการกรีดยางพาราของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในส่วนของค่าเสียหายประการแรกได้แก่ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นบิดานายณัฐพงศ์เจ้าของรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ และเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ และไม่มีกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุจะต้องรับผิดต่อนายณัฐพงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเหตุละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกี่ยวกับตัวรถโดยตรงจากจำเลย ค่าเสียหายประการสุดท้ายได้แก่ ค่าพาหนะที่โจทก์จ่ายให้นายณัฐพงศ์ในการเดินทางไปเรียนหนังสือ เห็นว่า นายณัฐพงศ์เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุขับไปเรียนหนังสือ จึงเป็นสิทธิของนายณัฐพงศ์ที่จะฟ้องเรียกค่าพาหนะดังกล่าวมิใช่โจทก์ แม้โจทก์จะเป็นผู้จ่ายค่าพาหนะให้แก่นายณัฐพงศ์ก็ตาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share