คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และโจทก์ร่วมมีแต่คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และ ส. คำซัดทอดดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย เช่นเดียวกับบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า ที่ให้การเช่นนั้นเกิดจากการชี้นำของเจ้าพนักงานตำรวจโดยบอกว่าจะกันไว้เป็นพยาน อันเป็นการนำสืบว่าโจทก์และโจทก์ร่วมได้พยานหลักฐานชิ้นนี้ด้วยการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ไม่เป็นการให้การด้วยความสมัครใจ รับฟังไม่ได้ แต่แม้จะรับฟังได้หรือไม่ บันทึกคำให้การดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อยเช่นกัน
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจนำสืบพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะเป็นข้อเท็จจริงแวดล้อมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยแล้ว พยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมาจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง กรณียังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วยเพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 84, 91, 288, 289, 297 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางมยุรี ภริยานายศุภกิจ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดต่อชีวิต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 289 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 60, 80) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก ไม่ต้องระบุ), 72 ทวิ วรรคสอง, 78 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 78) วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง กับฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม และฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 8 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานอื่นมารวมได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่
เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายศุภกิจ ผู้ตายจนถึงแก่ความตาย และนายสมนึก ผู้เสียหาย ได้รับอันตรายสาหัสและฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง สำหรับข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ ซึ่งจะได้วินิจฉัยเป็นลำดับไป ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างวานจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนายสามารถ อภิบุญอำไพในราคา 300,000 บาท ให้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนายสามารถเอกสารหมาย จ.16 จ.43 จ.44 และ จ.32 ตามลำดับ โดยมีพันตำรวจโทบุญช่วย พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำบุคคลดังกล่าวเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนายสามารถได้ให้การเช่นนั้นจริง โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายวิชัย จิตรทูล คนขับรถของผู้ตายซึ่งขับรถของผู้ตายขณะผู้ตายถูกยิงเบิกความว่า หลังเสียงปืนเงียบลงประมาณ 5 นาที มีรถยนต์กระบะหลังคาไฟเบอร์แล่นมาจอดในที่เกิดเหตุ สักพักรถยนต์กระบะคันดังกล่าวแล่นออกไป พยานเข้าใจว่าคงมาจอดรับคนร้ายเพราะแล่นออกไปอย่างเร็วมาก เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะใช้รถยนต์กระบะยี่ห้อฟอร์ด มีหลังคาท้ายกระบะ หมายเลขทะเบียน บธ 685 กาญจนบุรี ซึ่งถือว่าคล้ายกับหลังคาไฟเบอร์ตามที่นายวิชัยเบิกความถึงในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ขับรถคันดังกล่าวไปงานอุปสมบทบุตรชายของนางพเยาว์ ร้อยเครือ เช่นเดียวกับผู้ตาย และสถานที่เกิดเหตุไม่ห่างไกลจากบ้านงานอุปสมบทมากนักก็ตาม แต่นายวิชัยซึ่งเป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลากลับไม่สามารถระบุยี่ห้อหรือสีของรถ หมายเลขทะเบียนรถ ตลอดจนตำหนิรูปพรรณของรถอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่จะบ่งบอกว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อพันตำรวจโทบุญช่วยให้นายวิชัยตรวจดูรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 นายวิชัยก็ยืนยันแต่เพียงว่าคล้ายกับรถของคนร้ายเท่านั้น ที่เป็นเช่นนั้นคงเป็นเพราะเหตุเกิดเวลากลางคืน นายวิชัยย่อมไม่อาจมองเห็นได้ชัด นอกจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการตรวจสอบรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อหาร่องรอยหรือข้อพิรุธใด ๆ จากรถยนต์คันนี้เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้ขับรถมารับคนร้ายที่ลอบยิงผู้ตายหลบหนีไป ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์คันนี้เป็นของกลางไว้ ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.23 ทำให้ฟังไม่ถนัดว่ารถยนต์กระบะหลังคาไฟเบอร์ที่นายวิชัยเห็นและเบิกความถึงนั้นจะหมายถึงรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ขับรถมารับคนร้ายและพาคนร้ายหลบหนีไปที่บ้านจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดง ให้คนร้ายขับหลบหนีไป เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ขับรถกลับมาที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง ทำนองย้อนกลับมาดูลาดเลาเป็นเวลาหลายชั่วโมงจากนั้นกลับบ้าน รุ่งขึ้นจึงไปทำงานตามปกติเหมือนไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเหตุเกิดเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะเกิดเหตุก่อนที่จำเลยที่ 2 จะขับรถมารับคนร้าย คนร้ายย่อมต้องใช้เวลาในการปฏิบัติภารกิจพอสมควรก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมาถึงเมื่อจำเลยที่ 2 มาถึงและขับรถพาคนร้ายหลบหนีไปที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 25 กิโลเมตร เพื่อนำรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดง ให้คนร้ายขับหลบหนีไปตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ จากนั้นจึงขับกลับมาที่เกิดเหตุนั้น ย่อมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะระยะทางไปกลับ 50 กิโลเมตร แต่ได้ความจากสิบตำรวจโทหรือนายพิทักษ์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งนั่งมากับรถพร้อมผู้ตายเบิกความตอบคำถามค้านทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 2 ได้มายังที่เกิดเหตุและเข้ามาถามพยานว่าเป็นอะไรบ้าง โดยไม่ได้ความว่าเป็นเวลาหลังเกิดเหตุนานเท่าใด ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของสิบตำรวจเอกสำรอง พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่เบิกความว่า พยานไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา และเห็นจำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งต้องหมายความว่าจำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุก่อนพยานมาถึงและต้องเป็นเวลาก่อน 22 นาฬิกา คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง ยังสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจตรีเวช พิสูตร ที่ว่า จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งเหตุให้พยานทราบในเวลาประมาณเกือบ 21 นาฬิกา กับแจ้งรายละเอียดของสถานที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 2 บอกถึงการพบรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยซึ่งคาดว่าจะเป็นของคนร้ายให้พยานทราบด้วย อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ต้องอยู่ในที่เกิดเหตุขณะแจ้งเหตุให้พันตำรวจตรีเวชทราบ จึงเป็นการยากที่จะเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 2 จะขับรถมารับคนร้ายแล้วกลับไปส่งคนร้ายที่บ้านของตนแล้วกลับมาที่เกิดเหตุภายในช่วงเวลาที่นายพิทักษ์และสิบตำรวจเอกสำรองเห็นจำเลยที่ 2 ในที่เกิดเหตุหรือที่พันตำรวจตรีเวชได้รับการแจ้งเหตุจากจำเลยที่ 2 ทางโทรศัพท์ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ กรณีจึงน่าเชื่อว่าภายหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถมาดูที่เกิดเหตุโดยตรงและพบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองปากและติดต่อพูดคุยแจ้งเหตุให้พันตำรวจตรีเวชทราบทางโทรศัพท์เสียมากกว่า โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีแต่คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนายสามารถ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.16 จ.43 จ.44 และ จ.32 ตามลำดับ แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ก็นำสืบปฏิเสธว่าตนไม่ได้ให้การเช่นนั้นด้วยความสมัครใจ ส่วนนายสามารถถึงแก่ความตายก่อนฟ้อง อย่างไรก็ดี คำซัดทอดดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย เช่นเดียวกับบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.31 ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่าที่ให้การเช่นนั้นเกิดจากการชี้นำของเจ้าพนักงานตำรวจโดยบอกว่าจะกันจำเลยที่ 2 ไว้เป็นพยานอันเป็นการนำสืบว่าโจทก์และโจทก์ร่วมได้พยานหลักฐานชิ้นนี้ด้วยการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ไม่เป็นการให้การด้วยความสมัครใจรับฟังไม่ได้ แต่แม้จะรับฟังได้หรือไม่บันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.31 ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อยเช่นกัน ส่วนที่ร้อยตำรวจเอกเพทาย จันทรไพร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความถึงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 ที่มีไปถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อนและในวันเกิดเหตุเป็นจำนวนหลายครั้ง ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.3 (ศาลจังหวัดนครปฐม) นั้น ร้อยตำรวจเอกเพทายได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่า คงทราบแต่เพียงว่ามีการใช้เครื่องโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวติดต่อกัน แต่จะติดต่อกันเรื่องอะไรบ้างไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการไม่แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์และติดต่อเรื่องการกระทำผิดคดีนี้หรือไม่ ฉะนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจนำสืบพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะเป็นข้อเท็จจริงแวดล้อมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยแล้ว พยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมาจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง กรณีนับว่ายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมแล้ว เห็นว่า ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วยเพราะเป็นข้อจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางผกามาศ อาจแย้มสรวลภริยาของจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 จะใช้รถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยของกลางเป็นส่วนใหญ่ วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 3 กลับมาที่สถานีบริการน้ำมันที่พยานทำงานด้วยรถยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและสีรถ แม้นางผกามาศไม่ได้เบิกความถึงว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยของกลางออกไป แต่ในชั้นสอบสวนนางผกามาศให้การไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์คันนี้ออกไปเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ และกลับมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกาด้วยรถยนต์คันอื่น ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.3 (ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ซึ่งนางผกามาศยืนยันว่าถูกต้อง โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจโทชวน เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพยานไปดูที่เกิดเหตุและตรวจสอบรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โย พบใบส่งของของสถานีบริการน้ำมันคงทองปิโตรเลียมมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับสินค้า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อ้างส่งใบส่งของดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แต่ก็ได้ความว่าพันตำรวจโทชวนได้ไปที่สถานีบริการน้ำมันดังกล่าวทันทีในคืนนั้น และพบนางผกามาศภริยาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการยืนยันได้ว่าพันตำรวจโทชวนได้เบาะแสของจำเลยที่ 3 จากใบส่งของที่ตรวจพบในรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โย จึงติดตามไปที่สถานีบริการน้ำมันที่จำเลยที่ 3 ทำงานอยู่ คำเบิกความของนางผกามาศและพันตำรวจโทชวนจึงสอดคล้องกัน การที่จำเลยที่ 3 กลับมาที่สถานีบริการน้ำมันภายหลังเกิดเหตุด้วยรถยนต์คันอื่น ก็ต้องเป็นเพราะรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยของกลางใช้การไม่ได้นั่นเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 นำรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยของกลางไปใช้ในวันเกิดเหตุ และยังได้ความว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เดินทางไปถึงประเทศสหภาพพม่าและถูกทางการประเทศสหภาพพม่าจับกุมส่งตัวกลับประเทศไทย ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 3 ได้รับการชักชวนจากจำเลยที่ 4 ที่บอกว่าเพื่อนของจำเลยที่ 4 ชื่อนายเสถียรหรือดำ สุขรัตน์ ชวนให้ไปติดตามรถยนต์เช่าซื้อที่ขาดผ่อนชำระ โดยจะให้ค่าใช้จ่ายคนละ 5,000 บาท จึงตกลงและติดตามไปถึงประเทศสหภาพพม่า ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 มีการงานต้องทำที่สถานีบริการน้ำมันเช่นนี้ นับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า อีกทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำนายเสถียรมาเบิกความสนับสนุน ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 จึงรับฟังไม่ได้ เมื่อนำบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 เอกสารหมาย จ.43 มารับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้นำรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยของกลางไปใช้และพบรถยนต์คันนี้ในที่เกิดเหตุอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share